ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อะไรก็ดูดีไปหมด เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศมารวมกัน แต่จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ "โรคคอตีบ" ที่มีปัจจัยสำคัญคือการเดินทางเข้าออกของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจนเกิดการแพร่ระบาดลุกลามใหญ่โตในหลายจังหวัด จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาระดมความคิดหาทางป้องกันอย่างเร่งด่วนเพราะกลัวว่าเหตุการณ์จะบานปลาย

นี่นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการเปิดประเทศอย่างเสรี ภัยเงียบอย่างหนึ่งของ AEC ที่เกิดขึ้นอาจเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่แพร่ระบาดไปอย่างไม่ทันรู้ตัว ทั้งโรคในอดีตที่ผู้คนหลงลืม หรือโรคระบาดใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม นั่นคือ โรคไม่ติดต่อ ถึงขนาดที่ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ออกมาระบุว่า หลังเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 อาจทำให้ประชากรกว่า 600 ล้านคน ในภูมิภาคเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้น

เหตุนี้จึงมีการหามาตรการควบคุมโรคไม่ติดต่อ หรือโรคเรื้อรัง ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่มีความสำคัญไม่เฉพาะในอาเซียนแต่แนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ สหประชาชาติกังวลว่าหากไม่มีมาตรการที่ดี การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคมากจนยากจะควบคุม เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน ทั้งการทานอาหาร และการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม

สำหรับโรคที่สหประชาชาติห่วงมากที่สุดมี 4 โรค คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด และโรคเบาหวาน ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วมากถึง 36 ล้านคน จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่พบ 57 ล้านคนในแต่ละปี สำหรับอาเซียนพบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 60 หรือประมาณ 2.5 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อนี้

รู้ทันโรคฉบับนี้ จึงขอหยิบเอา 7 โรคร้ายภัย AEC ที่มีทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อมานำเสนอ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทั้งภาครัฐและประชาชน ตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

1) โรคคอตีบ หรือ "ดิพทีเรีย"เป็นโรคที่เกิดมาก่อนและมีมานานแล้วและไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดการระบาดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบัน ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 10-15 ปีซึ่งมีมากถึง 25-29% ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบมาก่อน

สาเหตุที่ทำให้ "โรคคอตีบ" กลับมาเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากประชาชนไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค คือไม่เคยฉีดวัคซีนคอตีบมาก่อน หรือถ้าเป็นผู้ที่เคยฉีดวัคซีนแต่จะฉีดไม่ครบและไม่ไปรับการกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดต่ำลง เนื่องจาก"โรคคอตีบ"เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ที่ติดต่อกันได้โดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด

การใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน ซึ่งเชื้อนี้จะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโดยพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตายได้

2) โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไอเป็นอาการหลัก และมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์ โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก โอกาสที่คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกันมีถึง 80-100% และถึงแม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 20% ผู้ป่วยโรคไอกรนพบได้ทั่วโลก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม ก็ยังพบการระบาดเกิดขึ้นทุกๆ 3-5 ปี

ไอกรนพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ในประเทศที่การให้วัคซีนไม่ครอบคลุมทั่วถึง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนในประเทศที่การให้วัคซีนเป็นไปอย่างทั่วถึง พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กทารกวัยน้อยกว่า 1 ปี และมีแนวโน้มว่าจะพบมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อาจเพราะลืม หรือขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น เมื่ออายุ 11-12 ปี หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยไอกรน

3) โรคบาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเสียชีวิต และคนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้ว สามารถเป็นได้อีก แต่โรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันได้ สำหรับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคบาดทะยัก มาจากเชื้อบาดทะยักที่อาศัยอยู่ในดิน ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ ฝุ่น รวมทั้งผิวหนัง และอุจจาระคน ตัวเชื้อบาดทะยักถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แต่สปอร์ของเชื้อมีความทนทาน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้นานหลายปี ทั้งนี้ เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง เช่น ผ่านทางแผลสด แผลเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทางสายสะดือในเด็กแรกคลอด ที่เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก เป็นต้น

อาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ แต่จะมีอาการกล้ามเนื้อบริเวณกรามแข็งเกร็ง อ้าปากได้ยาก ต่อมากล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และหลังจะแข็งเกร็ง ทำให้มีอาการปวด และในที่สุดกล้ามเนื้อทั่วตัวก็จะแข็งเกร็ง และมีการหดตัวเกิดขึ้น

4) โรคความดันโลหิตสูง ปัจจุบันคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้สูงมากถึง 10.8 ล้านคน โดย 5.4 ล้านคนไม่รู้ว่าตนเองเป็นอยู่ ความร้ายแรงแบบโดมิโนของโรคความดันโลหิตสูงอยู่ตรงที่คนที่เป็นโรคนี้มักมีคอเลสเตอรอลสูงกว่าคนปกติ 6-7 เท่า เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และร้อยละ 25 ตามลำดับ และมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 หลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตันร้อยละ 20-30 ไตวายร้อยละ 5-10 และมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า

คนเป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่ก็เป็น "เพชฌฆาตเงียบ" ที่สร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อหลอดเลือดและอวัยวะอื่นๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต ทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก จนเกิดเป็นอัมพาต และอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายตามมา รวมทั้งเกิดโรคไตวายเรื้อรัง

5) โรคหัวใจ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 50 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน และเจ็บป่วยนับเฉพาะที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในมีมากเฉลี่ยถึง 1,185 รายต่อวัน โรคหัวใจที่พบได้มากมีทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจวาย และอื่นๆ และนับวันก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยล่าสุดพบว่า คนไทยมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงถึงร้อยละ 86 เพราะความนิยมบริโภคอาหารไขมันสูง ทำให้มีไขมันสะสมในเส้นเลือดแดง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตามมา จนมีคนไทยจำนวนมากที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

6) โรคเบาหวาน คนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน 3.5 ล้านคน แต่มีถึง 1.1 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองป่วย ที่น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงกว่าคนปกติถึง 2-4 เท่า และมากกว่าครึ่งมีความผิดปกติของระบบประสาท และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เท้า และไต ในรายที่เป็นไม่มากผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ในรายที่เป็นมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล.) จะมีอาการให้สังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อยและมาก หิวและกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง บางคนปัสสาวะแล้วมีมดขึ้น อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าถึงขั้นน่าเป็นห่วง

7) โรคปอด เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับเซลล์ของปอด สาเหตุที่พบบ่อย คือ ปอดติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม ทั้งจากเชื้อไวรัส (เช่น จากไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคซาร์ส โรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น) หรือจาก เชื้อแบคทีเรีย โรคมะเร็งปอด เป็นต้น อาการสำคัญที่เกิดจากโรคปอด คือ อาการไอ อาจมีเสมหะ หรือไม่ก็ได้ และอาการเหนื่อยหอบเมื่อมีการออกแรง ซึ่งเมื่อมีอาการมาก/ร่างกายขาดออกซิเจนมาก จะมีอาการเขียวคล้ำร่วมด้วย หมดสติ ภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

เป็น 7 โรค ที่ประชาคมอาเซียนต้องระวัง!

ที่มา : คอลัมน์ รู้ทันโรค หน้าพิเศษมติชน Hospital Healthcare วันที่ 7 มกราคม 2556