ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผู้เชี่ยวชาญเตือนผ่านเวทีประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่เมืองดาวอส โรคอ้วนจะกลายเป็นโรคระบาดทั่วโลกทำให้ผู้ใหญ่กว่าครึ่งโลกน้ำหนักเกินมาตรฐานภายใน 20 ปีข้างหน้า เรียกร้องรัฐบาลทั้งหลายดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ, โภชนาการ และสมรรถภาพของร่างกาย กล่าวเตือนปัญหานี้ในที่ประชุมเศรษฐกิจโลกสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า วิกฤติโรคอ้วนร้ายแรงที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขจัดการอย่างแน่วแน่ในแบบเดียวกับที่รัฐบาลทั้งหลายรณรงค์ต่อสู้กับการสูบบุหรี่

ลินดา ไฟรด์ อธิการบดีคณะสาธารณสุขเมลแมนแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวต่อที่ประชุมโรคอ้วนที่เวทีดาวอสแห่งนี้ว่า ปัจจุบันมีประชากรวัยผู้ใหญ่ 1,400 ล้านคนทั่วโลกที่มีน้ำหนักเกิน และตัวเลขนี้กำลังจะเพิ่มขึ้น

"ภายใน 20 ปีข้างหน้า หากทุกอย่างยังดำเนินไปเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่า ประชากรผู้ใหญ่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ในโลกจะน้ำหนักเกิน" ไฟรด์กล่าว "หากนี่เป็นโรคติดต่อ เราก็อาจเรียกมันได้ว่าโรคระบาด มันไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาคด้วย แต่เป็นระดับโลก มันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองอย่างนี้ตรงกับคำนิยามพื้นฐานของโรคระบาด"

พวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เพราะอาหารทุกวันนี้ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นทุกที และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนปัจจุบันที่ชอบอยู่นิ่งๆ มากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องรีบแก้ไขวิกฤติโรคอ้วนซึ่งก่อโรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และคร่าชีวิตผู้ใหญ่ปีละ 2.8 ล้านคน

ขั้นตอนแรกในการแก้วิกฤตินี้ คือการเอาชนะปฏิกิริยาตอบสนองโดยสัญชาตญาณของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อโรคอ้วน ที่มักจะโทษภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน มากกว่าจะโทษสภาพแวดล้อมรายรอบ ไฟรด์กล่าวว่า ภายใน 30 ปี เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังโทษอาหารยุคใหม่ที่แคลอรีสูงซึ่งหาซื้อได้ง่ายและราคาค่อนข้างถูก รวมถึงการขยายตัวของเมืองที่ทำให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตที่เคลื่อนไหวน้อยลง

ลิซา แม็คคัลลัม คาร์เตอร์ รองประธานฝ่ายกีฬาของบริษัทไนกี้ กล่าวว่า โรคอ้วนสัมพันธ์กับ "วิกฤติความเฉื่อยชา" ที่เป็นผลจากชีวิตคนเมือง มีงานวิจัยเช่นนี้ชี้ว่าคนอเมริกันปัจจุบันเคลื่อนไหวน้อยลงกว่า 46 ปีที่แล้ว 32% และแนวโน้มจะเคลื่อนไหวน้อยลงถึง 50% ในปี 2573.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 28 มกราคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง