ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อ เพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต โดยเพิ่มขนาดของภาพคำเตือนมีสัดส่วนร้อยละ 85 ของพื้นที่ซอง จากร้อยละ 55 ของพื้นที่ ว่า ตามปกติหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก กำหนดว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 ปี 1 ครั้ง เนื่องจากเมื่อใช้ภาพคำเตือนไประยะหนึ่ง จะมีความรู้สึกเคยชินต่อภาพนั้นๆ ทำให้ประสิทธิผลที่จะเกิดจากการมีภาพคำเตือนนั้นลดลง จึงต้องเปลี่ยนแบบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ชี้ว่า การกำหนดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่นั้น ยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งส่งผลต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดความกลัวไม่กล้าลอง และสามารถลดปริมาณการบริโภคลงได้

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจล่าสุดของกรมควบคุมโรค ปี 2554 ที่ใช้แบบสำรวจของศูนย์กรมควบคุมโรคประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเกณฑ์การสำรวจการสูบบุหรี่ที่ใช้เหมือนกันทั่วโลกนั้น พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ร้อยละ 2-3 ดูคำเตือนรูปภาพแล้วมีความอยากสูบบุหรี่ลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ภาพคำเตือนแบบเดิมเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผู้สูบเกิดความเคยชิน การเปลี่ยนภาพคำเตือนจึงเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมปริมาณการบริโภคของประชาชน

"นอกจากนี้ การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและให้ครอบคลุมกับอัตราเงินเฟ้อก็จำเป็น เช่นหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ก็จะส่งผลให้ค่าเงินถูกลงและก็จะทำให้ราคาบุหรี่ถูกลงร้อยละ 4 อีกด้วย สธ.ควรมีการควบคุมบุหรี่ที่เข้มข้นขึ้นเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อให้เท่าทันบริษัทบุหรี่ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทบุหรี่มีการเปลี่ยนยี่ห้อและลดราคาบุหรี่ ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักสูบหน้าใหม่และผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้วไม่ลดจำนวนลงเพราะพอราคาบุหรี่ยี่ห้อที่เคยสูบแพงขึ้นนักสูบก็จะหันมาสูบบุหรี่ยี่ห้ออื่นที่ถูกกว่าแทน" นพ.หทัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556