ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกสำรวจตายเพราะอุบัติเหตุ ไทยอยู่อันดับ 3 ของโลก จยย.ต้นเหตุ เผยดับปีละ2.6หมื่นราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายศิลปชัย จารุเกษมรัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยปี 2555 จัดโดยมูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 100,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 30 คน โดยร้อยละ 70-80 เกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า จากสถิติพบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลก ร้อยละ 23 เกิดจากรถจักรยานยนต์ และระดับอายุของผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 15-44 ปี โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับกลุ่มประเทศที่พบอุบัติเหตุสูงสุด 182 ประเทศ เมื่อปี 2553 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 26,000 คนต่อปี คิดเป็น 38 รายต่อแสนประชากร ถือเป็นอันดับ 6 ของโลกที่มีความปลอดภัยทางถนนน้อยที่สุด แต่เป็นข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ต้องมีการวิเคราะห์อีกรอบ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รวบรวมข้อมูลใหม่จนพบว่า แต่ละประเทศมีการจัดการปัญหาอุบัติเหตุดีขึ้น เว้นประเทศไทยที่ยังเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แม้อัตราการเสียชีวิตจะคงเดิม โดยอันดับ 2 เป็นของสาธารณรัฐโดมินิกัน มีพื้นที่เป็นเกาะ มีอัตราผู้เสียชีวิต 41.7 ต่อแสนประชากร ส่วนอันดับ 1 เป็นประเทศนิวเป็นเกาะในเอเชียใต้ มีอัตราเสียชีวิต 1 คน เพราะมีประชากรเพียง 1,000 คน

"ที่สำคัญในอาเซียน 10 ประเทศ ไทยถือว่ามีอุบัติเหตุสูงสุด รองลงมาคือ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ บรูไน และประเทศที่อุบัติเหตุน้อยที่สุดคือ สิงคโปร์ อัตราเสียชีวิต 5.1 ต่อแสนประชากร" นพ.วิทยากล่าว และว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัย ประเทศไทยได้คะแนน 6 เต็ม 10 เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าสิงคโปร์ เวียดนามได้ 9 คะแนน อินโดนีเซีย ลาวได้ 8 คะแนน

นายดนัย เรืองสอน ประธานมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า มูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ได้สำรวจสถานการณ์การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,200 แห่ง ใน 77 จังหวัด พบว่าไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1.5 ล้านคน โดยจังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กทม.ร้อยละ 80 รองลงมา คือ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ บึงกาฬ ลำพูน ชัยภูมิ นราธิวาส และนครพนม มีการสวมหมวกนิรภัยไม่ถึงร้อยละ 20 เมื่อดูสถิติย้อนหลังพบว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัย ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 44 ปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 46 และลดลงในปี 2555 เหลือร้อยละ 43 แม้ว่าจะมีนโยบายการรณรงค์อย่างต่อเนื่องก็ตาม

--มติชน ฉบับวันที่ 17 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง