ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ยังคงร้อนอย่างต่อเนื่องสำหรับความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการปฏิรูปตัวเองและยึดเอาอำนาจองค์กรตระกูล ส. เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กลับมาในอ้อมอกของตัวเองอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าองค์กรเหล่านี้ทำเกินขอบเขตหน้าที่ของตัวเองและหลายภารกิจก็ซ้ำซ้อนกัน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหนึ่งในผู้ให้กำเนิดองค์กรตระกูล ส. เมื่อเกือบ20 ปีก่อน แสดงความคิดเห็นว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระทรวงอย่างที่ รมว.สธ.กล่าวอ้าง

ขณะเดียวกัน พิมพ์เขียวโครงสร้างใหม่ที่ สธ.จัดทำขึ้น ดูเหมือนการโยงสะเปะสะปะไม่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าปัญหาของ สธ.เกิดขึ้นจากองค์กรเหล่านี้เพียงกลุ่มเดียว จึงอยากถามกลับไปยังคนทำว่ามีการวิจัยที่แน่ชัดไหมว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพจริงอย่างที่ผู้บริหารกระทรวงกล่าวอ้าง"ส.เกิดจากความเห็นพ้องของผู้มีอำนาจจนออกเป็นพระราชบัญญัติออกมา เพราะทุกคนรู้ว่าหากยังปล่อยให้ภารกิจอย่างประกันสุขภาพถ้วนหน้า การแพทย์ฉุกเฉิน หรืองานวิจัย อยู่ในระบบราชการก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงต้องรวมเอาผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาการ รวมถึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ไม่เข้าใจว่าจะนำอำนาจคืนไปทำไม"นพ.วิชัย ยกตัวอย่าง สปสช.ที่หลายฝ่ายอ้างว่าใช้เงินมากเกินไป และทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ สธ.นั้น ในทางกลับกันนานาชาติต่างยอมรับว่าเป็นต้นแบบของระบบบริการที่ก้าวหน้า ใช้งบประมาณน้อยกว่าสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม

เช่นเดียวกับ สสส.โมเดล ที่องค์การอนามัยโลกยกเป็นต้นแบบของกลไกป้องกันและสนับสนุนงานสุขภาพ จนเป็นที่มาขององค์กรคล้าย สสส.ในหลายประเทศ ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าการเอาอำนาจกลับไปนั้น ต้องการให้เงินผ่านมือมากขึ้นหรือไม่

ขณะที่ บุญยืน ศิริธรรม กรรมการ สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การเอาอำนาจทุกอย่างกลับไปตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ต่างกับการครอบงำทางความคิด โดยไม่สนใจองคาพยพอื่นๆ

บุญยืน ชี้ให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของ สปสช. และตระกูล ส. ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงยกระดับบริการสาธารณสุข แต่ยังพยายามสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การนำอำนาจกลับไปจึงไม่ต่างอะไรกับการถอยหลังลงคลอง ขณะเดียวกันการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ สธ.ก็อาจนำไปสู่การคอร์รัปชันการจัดซื้อ-จัดจ้าง หรือการทุจริตยาได้ง่ายขึ้นด้วย

บุญยืน สรุปว่า หากรัฐบาลตอบไม่ได้ว่าการยึดอำนาจกลับคืนมีประโยชน์อย่างไร ก็คงได้เห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเร็วๆนี้แน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 มีนาคม 2556