ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“หมอชนบท” ฮึ่ม ไม่พอใจการ ปรับเปลี่ยนวิธีจ่ายเบี้ยเลี้ยง นัดชุมนุม หน้าทำเนียบฯ-แห่โลงศพ-ดอกไม้ จันทน์ 26 มี.ค.นี้ หวังกดดันนายกฯ เปลี่ยนตัว “รมว.สธ.” พร้อมขึ้นป้าย ไล่ “ประดิษ ฐณรงค์” ต่างจากชมรมเภสัชฯ เดินหน้าหนุน สธ.ลุยใช้ระบบพีฟอร์พี ชี้ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมและขวัญกำลังใจวิชาชีพอื่น ปลัด สธ.ลั่นดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ เป็นแค่เก็บข้อมูล ยังไม่เริ่มจ่ายจริง ขณะที่แพทยสภาก็ หนุนปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทน

วงการสาธารณสุขยังวุ่นต่อ โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.เวลา 08.45 น. ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เภสัชกร (ภก.) ประทิน ฮึงวัฒนากุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในฐานะประธานชมรมเภสัชกรฯ นำเภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจในการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี โดย ภก.ประทินกล่าวว่า การจ่ายแบบพีฟอร์พีจะเป็นแนวทางสร้างความเป็นธรรมและขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม การกำหนดคะแนนค่างานของกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำมาคิดภาระงานนั้น สธ.ควรดำเนินการให้มีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับและเป็นธรรมสำหรับทุกวิชาชีพ เมื่อออกเกณฑ์เสร็จแล้วก็ควรเรียกตัวแทนแต่ละวิชาชีพมาหารือให้เกิดการยอมรับร่วมกัน มีสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างแต่ละวิชาชีพ

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.พร้อมรับพิจารณาและทบทวนตามที่เสนอในจุดที่เห็นต่าง โดยจะยึดหลักการสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกวิชาชีพ ผู้ที่ทำงานมากก็ควรได้รับค่าตอบแทนมาก โดยผลลัพธ์นี้จะไปตกอยู่ที่ประชาชนด้วย เพราะบุคลากรตั้งใจทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเรื่องของความแตกต่างด้านพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่ยาก การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนก็จะพยายามทำให้สมดุลกัน ซึ่งตามแผนงานเบื้องต้น การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนระยะแรกจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเป็นเพียงการเริ่มเก็บข้อมูลตามภาระงานเท่านั้น ยังไม่เริ่มจ่ายแบบพีฟอร์พี แต่โรงพยาบาลใดมีความพร้อมในเรื่องของข้อมูลก็สามารถเริ่มจ่ายได้เลย หากหน่วยงานใดยังไม่พร้อมก็จะให้เก็บข้อมูลจนกว่าจะพร้อม ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนน่าจะเข้าที่เข้าทางแล้วกลับมาย้อนจ่ายทีหลัง ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 1 จะมีการประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เพื่อนำมาพิจารณาปรับต่อไปให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกวิชาชีพก่อนเข้าสู่การดำเนินการในระยะที่ 2

นอกจากนี้ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยจาก พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ว่า การที่ สธ.จะปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นพีฟอร์พีนั้น วางแผนมาตั้งแต่สมัย นพ.ไพจิตร์ วราชิต เป็นปลัด สธ. เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว จะเป็นประโยชน์และเป็นธรรมต่อทุกวิชาชีพ เพราะคนทำงานมากก็จะได้รับเงินมากตามภาระงาน โดยการปรับเป็นแบบพีฟอร์พีไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก เนื่องจากเป็นการปรับลดเงินที่ได้เปล่า ดังนั้น จะมีเพียงกลุ่มที่เสียผลประโยชน์เท่านั้นที่ไม่ยอมรับ อาทิ แพทย์ชนบทออกมาคัดค้านน่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน เพราะคนที่ทำงานต่างเห็นด้วยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดไม่มีความกังวลเรื่องที่แพทย์จะลาหยุดงานช่วงวันสงกรานต์ เนื่องจากมีการเตรียมพร้อมรับมือให้ความช่วยเหลือและรองรับกรณีโรงพยาบาลอำเภอส่งต่อผู้ป่วยอาการหนักมายังโรงพยาบาลประจำจังหวัด และในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. บุคลากรจากโรงพยาบาลทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน เข้าพบปลัด สธ. เพื่อให้กำลังใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย

ส่วน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าแพทยสภาเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังที่จะเห็นความสามัคคีของแพทย์ ดังนั้น การที่จะมีแพทย์ออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เป็นสิ่งที่แพทยสภาไม่อยากเห็น ส่วนการที่กระทรวงสาธารณสุขจะปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยเลี้ยงจากวิธีเหมาจ่าย เป็นค่าตอบแทนตามภาระงานนั้น เท่าที่ทราบจะไม่ได้มีการตัดงบประมาณในส่วนดังกล่าว เพียงแต่จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน ยกเว้นพื้นที่ชายแดนภาคใต้เท่านั้นที่จะยังใช้ระบบการเหมาจ่ายแบบเดิม ซึ่งในขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศมีความพร้อมที่จะปรับการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวแล้ว ส่วนกรณีที่มีแพทย์บางกลุ่มไม่พอใจและจะชุมนุมประท้วงนั้น โดยส่วนตัวมองว่ากลุ่มแพทย์ที่ไม่พอใจนั้น แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่สนใจที่จะปรับแนวทางการจ่ายเบี้ยเลี้ยงตั้งแต่แรก จึงไม่สนใจที่จะรับข้อมูลในเรื่องดังกล่าว 2.กลุ่มแพทย์ที่ยังไม่มีความพร้อมในการปรับวิธีการจ่ายเบี้ยเลี้ยง เนื่องจากต้องมีการเตรียมบุคลากรและเครื่องมือในการประเมินผลงานของแพทย์ และ 3.กลุ่มแพทย์ที่จะได้รับผลกระทบในการได้รับเบี้ยเลี้ยงน้อยลง ซึ่งยอมรับว่ามีอยู่ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าสำหรับกลุ่มที่ยังไม่พร้อม เช่น โรงพยาบาลชุมชน ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ควรเลื่อนเวลาในการปรับแนวทางการจ่ายเบี้ยเลี้ยงออกไปก่อน ส่วนในกลุ่มที่มีความพร้อมก็ให้เริ่มทำได้ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด คือ 1 เม.ย. แต่ไม่ควรที่จะยกเลิกแนวทางดังกล่าวทั้งหมด

ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่คัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบพีฟอร์พี โดย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางกลุ่มแพทย์ชนบทเตรียมตัวเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 มี.ค.นี้ เพื่อคัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแนวใหม่ และกดดันนายกรัฐมนตรีให้ถอด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง โดยจะมีการแห่โลงศพ รมว.สาธารณสุข พร้อมวางพวงหรีดและดอกไม้จันทน์ นอกจากนี้ กลุ่มแพทย์ชนบททั้งหมดจะกล่าวคำปฏิญาณไม่ยอมรับผู้นำอย่าง นพ.ประดิษฐ เนื่องจากการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบพีฟอร์พี เสมือนการบั่นทอนจิตใจ และเป็นการนำผู้ป่วยมาเป็นตัวประกัน โดยการชุมนุมในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ยังได้รับการติดต่อจากสมาชิกกองทุนเบี้ยบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่าจะมาร่วมชุมนุมด้วย

สำหรับบรรยากาศตามโรงพยาบาลชุมชนที่คัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทน พบว่าแพทย์ พยาบาล เริ่มสวมชุดดำมาปฏิบัติหน้าที่และขึ้นป้าย “ขอไว้อาลัย ประดิษฐณรงค์ จงไปสู่สุคติ” โดย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผอ. รพ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า โรงพยาบาลขึ้นป้ายประท้วงดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์ และจะติดป้ายจนกว่าจะยกเลิกวิธีการจ่ายเงินด้วยวิธีดังกล่าวของ สธ. เพราะวิธีการจ่ายแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทำให้เพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์อยู่ในระบบได้มากกว่า เช่นเดียวกับ นพ.วัฒนา พาราสี ผอ.รพ.ยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า โรงพยาบาลร่วมคัดค้านเช่นกัน และนอกจากป้ายประท้วงดังกล่าวแล้ว ยังขึ้นป้ายข้อความทำความเข้าใจกับประชาชนว่า “เนื่องจาก สธ.ได้ยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรายหัวของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้เกิดความขาดแคลนของบุคลากร จึงขออภัยในความไม่สะดวกด้วย”

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 มีนาคม 2556