ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'หมอประดิษฐ'ขอโทษสหภาพ อภ. กรณีร้องดีเอสไอตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้า-ยาปนเปื้อนแล้วทำให้เสียภาพพจน์ หลังเจอชุมนุมต้าน-ขู่แจ้งความเอาผิด 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 เมษายน นายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมนำสมาชิกกว่า 150 คน ไปชุมนุมที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แสดงความไม่พอใจกรณีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ.ระบุว่าการผลิตยาพาราเซตามอลของ อภ.มีการปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิต รวมทั้งการจัดสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ อ.ทับกวาง จ.สระบุรี มีความล่าช้า โดยยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงไอ) ให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายระวัยเปิดเผยว่า การรวมตัวของสมาชิกในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีสมาชิกมากพอที่จะเปิดประชุมวิสามัญ หารือถึงทิศทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากข้อกล่าวหาของผู้บริหาร สธ.ทำให้ อภ.เสียหาย สำหรับเรื่องกระบวนการผลิตยานั้น พนักงาน อภ.รู้ข้อมูลดี และมั่นใจว่าทุกขั้นตอนมีความรัดกุม ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบได้

"ที่ประชุมนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ใน 2 เรื่อง คือ 1.แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวร้าย อภ.ทำให้เสียชื่อเสียง รวมทั้งจะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายด้วย และ 2.ขอให้ นพ.ประดิษฐ และนายกมลแสดงความรับผิดชอบขอโทษประชาชน และพนักงานของ อภ.ทุกคน" นายระวัยกล่าว และว่า จะนำมติของที่ประชุมดังกล่าวเข้าหารือกับคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เพื่อให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี แต่หากบอร์ดไม่ดำเนินการภายในสัปดาห์หน้า จะนัดชุมนุมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ.ด้านหน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้บริหาร สธ.แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นต่อไป

ด้าน นพ.ประดิษฐกล่าวว่า การยื่นเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบ ไม่ได้ต้องการกล่าวหาใคร แต่ทำเพราะต้องการข้อเท็จจริง และหากสื่อสารให้สหภาพฯเกิดความเข้าใจผิด หรือคิดว่าเป็นการ ดิสเครดิต ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดี ต้องขออภัย ยืนยันว่าการสั่งให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวเพียงต้องการชำระสะสางข้อมูลเพื่อความชัดเจน

"หากผมสื่อให้เกิดความเข้าใจผิดก็ขอโทษ และเชื่อว่าเป็นเพียงการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น โดยการส่งเรื่องให้ดีเอสไอสอบสวนเกิดจากกรณีของการปนเปื้อนนั้น เป็นความต้องการจัดการปัญหา ส่วนเรื่องจะใส่ชุดดำมาขับไล่หรือไม่ อยากให้ประชาชนและสหภาพฯใช้วิจารณญาณว่า เหมาะสมหรือไม่ การที่ผมต้องการหาข้อเท็จว่า เหมาะสมหรือไม่ การที่ผมต้องการหาข้อเท็จจริงจำเป็นต้องขับไล่ออกจากตำแหน่งหรือไม่" นพ.ประดิษฐกล่าว

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวชี้แจงการปนเปื้อนวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลว่า เมื่อตรวจสอบพบสารปนเปื้อน จึงสั่งการให้ผู้อำนวยการ อภ.ส่งคืนวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลทั้งหมดให้กับบริษัทตัวแทนในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต ซึ่ง อภ.จะได้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คืนทั้งหมด ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวถึงวัตถุดิบผลิตยาพาราฯปลอมนั้น ขอชี้แจงว่าเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ให้ข่าว โดยให้คำนิยามคำว่า "ยาปนเปื้อน" เป็น "ยาปลอม" ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วคือ วัตถุดิบดังกล่าวมีสารปนเปื้อนไม่ใช่ยาปลอม และในกระบวนการผลิตอาจมีการตรวจพบได้

นพ.พิพัฒน์กล่าวถึงการสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้าว่า บอร์ด อภ.ได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนและได้ออกคำสั่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยให้ นพ.สมชัย นิจพานิจ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน ส่วนความล่าช้าโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และกรณีโรงงาน Mass Production โรงงานผลิตยาพาราเซตามอลแห่งใหม่ ที่ย่านพระรามที่ 6 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน มี นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธาน โดยให้เวลา 30 วันสรุปผลทั้ง 2 คณะ

เวลา 15.00 น. วันเดียวกัน นายกมล บันไดเพชร นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญา 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. เข้าตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ เลขที่ 63/14 หมู่ 3 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นอาคาร 5 หลัง มีอาคารผลิต, บรรจุ,ควบคุม, ทดสอบ และสนับสนุน อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดย นพ.วิทิตนำเดินชมภายในอาคารทั้ง 5 หลัง พร้อมอธิบายการทำงานอย่างละเอียด

นายธานินทร์กล่าวว่า โครงการมีความคืบหน้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ บางส่วนติดตั้งเครื่องจักรไปแล้ว รวมทั้งระบบไฟฟ้า ทั้งนี้พบว่าการก่อสร้างล่าช้าติดขัดปัญหาผู้รับเหมา เนื่องจากมีการแก้ไขแบบการก่อสร้าง และวงเงิน คิดว่าจะได้ข้อยุติในเดือนเมษายนนี้ โดยดีเอสไอต้องดูเอกสารทั้งหมดว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ถูกต้องตามที่ชี้แจงหรือไม่ ถ้าได้ข้อยุติแล้วเชื่อว่าจะเดินหน้าก่อสร้างต่อไปได้

นพ.วิทิตกล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับดีเอสไอตรวจสอบข้อเท็จจริง การก่อสร้างล่าช้า เนื่อง จากดูแลความปลอดภัยในส่วนของฐานรากอาคาร ต้องใช้เวลาตรวจสอบ 136 วัน และยังประสบปัญหาน้ำท่วม ต้องใช้เวลา 100 วัน หลังจากนั้นทบทวนแบบก่อสร้าง เพื่อให้ระบบความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนในตัวอาคารมีความปลอดภัยสูงตามที่องค์การอนามัยโลกรับรอง ส่วนปัญหาการก่อสร้างที่ไม่คืบหน้า ทั้งผู้รับเหมา และ อภ.ได้ร่วมกันตรวจสอบ ทั้งราคาในการจัดจ้างว่าจะลดงบประมาณอย่างไรบ้าง ขั้นตอนนี้อยู่ในระหว่างการต่อรอง ถ้างบประมาณก่อสร้างไม่มาก ทาง อภ.จะยื่นเรื่องให้ผู้รับเหมารายเดิมมาก่อสร้างต่อ หากการเจรจาไม่ลงตัวอาจมีการยกเลิกสัญญา

ผู้สื่อข่าวถามว่า วงเงินในเจรจาประมาณเท่าไหร่ นพ.วิทิตกล่าวว่า วงเงินที่ทาง อภ.และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พิจารณาความเหมาะสมคือ 45 ล้านบาท แต่ทางบริษัทเสนอราคามา 50 กว่าล้านบาท หากตกลงกันได้จะยื่นให้บอร์ดอภ.พิจารณางบประมาณก่อสร้างต่อไป

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องการทำสัญญาที่มีการแบ่งซื้อ-แบ่งจ้าง 4 สัญญา รวมทั้งตรวจสอบเชิงลึกเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ดังนั้นต้องได้ข้อมูลยืนยันจากสำนักงบประมาณก่อน ส่วนประเด็นข้อโต้เถียงระหว่างเชื้อเป็นกับเชื้อตาย ดีเอสไอจะสอบปากคำผู้เชี่ยวชาญกรณีดังกล่าวเป็นพิเศษคือเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายที่มีการโต้แย้งกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 เมษายน 2556