ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในเวลานี้ ถือเป็นการขับเคี่ยวระหว่างโรงพยาบาลเอกชน ขนาดใหญ่ ที่เดินหน้าขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมในทุกรูปแบบ ทำให้ปัจจุบัน จึงเหลือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่มที่ ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด คือ กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ กลุ่มวิภาวดี-รามคำแหง กลุ่มเกษมราษฎร์ และบำรุงราษฎร์

ในจำนวนนี้ต้องยอมรับว่า "กรุงเทพดุสิตเวชการ" หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ด้วยเครือข่าย โรงพยาบาล 30 แห่ง จำนวนเตียงรวม 5,458 เตียง จากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดที่มี 32,828 เตียง ขณะที่ ผลประกอบการปี 2555 มีอัตราการ เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากรายได้จากการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ในปี 2553 อยู่ที่ 23,513 ล้านบาท เป็น 35,224 ล้านบาท ในปี 2554 และ 44,307 ล้านบาทในปี 2555

จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา "นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ" ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ฉายภาพถึงทิศทางการลงทุนไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านรูปแบบการสร้างเอง การผนึกเป็นพันธมิตร และการซื้อกิจการ

น.พ.ปราเสริฐ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "หมอเสริฐ" ขยายความถึงภาพรวมธุรกิจในวันนี้ว่า หากพิจารณาจากมูลค่า หลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป (Market Capitalization) ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ สิ้นปี 2555 ที่ 1.75 แสนล้านบาท จัดเป็นอันดับ 3 ของกิจการโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองจาก "เอชซีเอ" กลุ่มธุรกิจสุขภาพในสหรัฐ และ "ไอเอชเอช" ของกลุ่มทุนมาเลเซีย สิงคโปร์ ตุรกี

แต่เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรนั้นถือว่าอยู่ในอันดับ 1 เหนือคู่แข่งรายอื่น ๆ โดยสิ้นปีที่ผ่านมา กลุ่ม ร.พ.กรุงเทพมีกำไรสุทธิ 13.4% ขณะที่เอชซีเออยู่ที่ 4.4% ไอเอชเอช 9.4% แรมเซย์ 6.2% และเมดิคลินิก 8.1%

หมอเสริฐระบุอีกว่า มาถึงตัวเลขมาร์เก็ตแคป ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ของกลุ่มนั้นพุ่งทะลุไปถึง 2.54 แสนล้านบาท จึงเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานเกินรอจะสามารถขยายมาร์เก็ตแคปไป ถึง 3 แสนล้านบาทได้อย่างแน่นอน

เมื่อมองถึงยุทธศาสตร์ที่ทางกลุ่มจะผลักดันการเติบโตของรายได้และผลกำไรหลังจากนี้ ซึ่งเต็มไปด้วย "บิ๊กโปรเจ็กต์"

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจสุขภาพ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนอย่างหนักในการขยายเครือข่าย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในกลุ่มทั้งสิ้น 30 แห่ง ตั้งเป้าจะมีครบ 50 สาขา เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 อย่างไรก็ตามในแง่ของการ เข้าไปปักธงตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ นั้น "หมอเสริฐ" บอกว่า จะสามารถขยายเครือข่ายได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดขนาดใหญ่ภายในปี 2557

โดยหลายแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างใหม่ และรีโนเวตโรงพยาบาลที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามา พร้อมเปิดให้บริการในปีหน้า อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ ไชน่า ทาวน์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอนแก่น และโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มก็มีการเปิดเจรจาดีลใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และ ไม่ปิดโอกาสในการเทกโอเวอร์กิจการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

"ดูทุกจุด ดูทุกวัน เลือกทำเลที่ ไม่ชนกับที่มีอยู่ ภาคเหนือตอนกลาง ยังไม่มีก็กำลังคิดอยู่ เราไม่มีนโยบายที่จะไปเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ขอให้เข้าไปช่วย ทั้งนั้น" หมอเสริฐกล่าวและว่า

ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจของ "กรุงเทพดุสิตเวชการ" ประกอบด้วย กลุ่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, พญาไท, เปาโล รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลที่เข้าไปถือหุ้น แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมบริหาร อาทิ โรงพยาบาลรามคำแหงถือหุ้นอยู่ 38% บำรุงราษฎร์ถือหุ้นอยู่ 23.88%

"ณ เวลานี้ยังไม่มีแผนซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์เพิ่ม เพราะหากถึง 25% ก็ต้องเข้าไปทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ นอกจากว่ามีความจำเป็นอื่น ๆ ก็คงจะพิจารณาใหม่ หรือเขาเข้ามาคุยกับเรา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ธุรกิจสมัยใหม่ เราคงไม่ต้องการอยู่คนเดียว ต้องมีเพื่อนร่วมทำงาน ระยะหลัง ๆ บำรุงราษฎร์ก็ส่งเคสมาให้เรามากพอสมควร"

นอกจากการขยายสาขาให้ครอบคลุม และการควบรวมกิจการ "หมอเสริฐ" ก็ยังมุ่งไปที่การแตกตัวเองภายใต้กลยุทธ์ "เซ็กเมนเตชั่น" โดยมีแผนปั้นแบรนด์ใหม่สำหรับโรงพยาบาลระดับกลาง ขนาด 59 เตียง จับกลุ่มประกันสังคม นำร่องที่พัทยา ภูเก็ต ระยอง ซึ่งจะเริ่มสร้างในปีนี้และเปิดให้บริการต้นปี 2557 ก่อนขยายไปทุกจังหวัด โดยมองเห็นโอกาสจากผู้ประกันตนที่มี 9 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มหาศาล

"ขนาด 59 เตียง แต่สุดท้ายก็คงถึง 200 เตียง งบฯลงทุนไม่สูง ต่อเตียงไม่เกิน 2 ล้านบาท เทียบโรงพยาบาลระดับบนใช้งบฯ 10 ล้านบาท เราเปิดตามทำเลที่มีสาขาใหญ่ตั้งอยู่ เพื่อรับส่งต่อเคสหนัก ทำให้ต้นทุนไม่สูง ใช้คนน้อย กำไรก็มากขึ้น"

ยังสนใจจะรุกเข้าไปในโมเดลของ "คลินิก" ที่มีรูปแบบคล้ายกับโรงพยาบาลชุมชนของภาครัฐ แต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งหมอเสริฐแย้มว่า จะขยายให้ได้ 70 แห่ง เจาะตลาดระดับล่าง โดยนำเทคโนโลยีการรักษาทางไกลหรือเทเลเมดิซีนเข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษา รวมทั้งสามารถส่งต่อเคสหนัก ๆ ไปยังโรงพยาบาลในเครือ

"โรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือคลินิกที่มีเคสยาก ไม่สามารถส่งต่อไปที่ไหนได้ แต่เรามีความได้เปรียบ จากการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลัก ที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ แพทย์"

แม่ทัพใหญ่กรุงเทพดุสิตเวชการยังเปิดเผยถึงโปรเจ็กต์ใหม่ถอดด้ามที่บริษัทกำลังให้ความสนใจ ซึ่งถือเป็นช่องว่างตลาดที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลผู้สูงอายุ โดยมีแนวคิดจะเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำเลที่คาดว่าจะใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาลอยู่ที่ "เขาใหญ่"

"ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาเราได้เปิดศูนย์ให้บริการผู้ป่วย สูงอายุแบบองค์รวมแห่งแรกที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และจะกระจายไปยังทุก เครือข่าย จึงมองเห็นโอกาสดังกล่าว"

หมอเสริฐย้ำว่า ทิศทางของกลุ่มขณะนี้มุ่งให้น้ำหนักการขยายเครือข่ายในประเทศ ซึ่งยังมีช่องว่างอีกมากและเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดเออีซี

"ตลาดต่างประเทศถามว่าไปไหม ไปแน่ แต่ศึกษาอยู่ทั้งเวียดนาม พม่า คงรอให้กฎหมายทุกอย่างลงตัว ถ้าเข้าไปก็คงมีพาร์ตเนอร์ สำหรับลาว เรามีคลินิกอยู่แล้วที่หลวงพระบาง จากนี้ ก็จะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลกรุงเทพ สาขาอุดรธานี เพื่อดึงคนลาวเข้ามาใช้บริการด้วย"

ภาพการลงทุนของกลุ่ม "กรุงเทพดุสิตเวชการ" ในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่บุกหนักในการขยายเครือข่าย แต่ยังพยายามคิดค้น พัฒนาโมเดลใหม่ ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกตลาด

ไม่ใช่รองรับแค่ในไทย แต่มองไกลถึงทั่วโลก ด้วยวิสัยทัศน์การขยายธุรกิจเชิงรุกสไตล์ "หมอเสริฐ" ที่มักมีอะไรให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ ๆ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 - 28 เม.ย. 2556