ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ครบรอบ 1 ปี หลังรัฐบาลประกาศใช้นโยบาย"เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน"เมื่อวันที่1 เม.ย. 2555 ด้วยหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้งประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้รับการบริการจากโรงพยาบาลไม่ว่าจะรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน ที่เท่าเทียมกันหากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน

นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ได้ทำโครงการประเมินการให้บริการ "ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินร่วมสามกองทุน" ในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 2555 โดยพบว่าโครงการนี้ให้บริการครอบคลุมประชากรทั่วประเทศอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น7,805 ราย โดยข้าราชการใช้บริการช่องทางนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยทุกสิทธิ 5 เท่า ข้อดีคือประสบความสำเร็จในการขยายช่องทางการเข้าถึงบริการในภาวะฉุกเฉินภายใต้โรงพยาบาลเอกชนนอกระบบการเบิกจ่ายเดิมชัดเจน และยังเป็นก้าวแรกของการขยายความรับรู้เกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะเคยระบุว่า โครงการนี้กำหนดให้ "รักษาฟรี ไม่ถามสิทธิ และไม่ต้องสำรองจ่าย" แต่ นพ.ไพบูลย์ กลับพบว่า ผู้ป่วยทุกสิทธิล้วนต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด สาเหตุอาจเป็นได้ทั้งผู้ป่วยไม่รับรู้สิทธิ ไม่ทราบว่าจะร้องเรียนผ่านหมายเลขใด ที่สำคัญก็คือ ค่าชดเชยในโครงการนี้ต่ำกว่าที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บ จนผู้ใช้บริการต้องสำรองจ่ายไปก่อน

ขณะเดียวกัน "นิยามภาวะฉุกเฉิน" ที่แบ่งออกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง นั้น ก็ยังอยู่ในภาวะคลุมเครือปล่อยให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้วินิจฉัยเอง จนโรงพยาบาลไม่สามารถแยกได้ว่า กลุ่มใดสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้บ้าง ขณะที่กลุ่มด้อยโอกาสนั้นพบว่ากังวลต่อการถูกเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน จนไม่กล้าใช้สิทธินี้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ขณะเดียวกัน นิยามของกรณี "พ้นวิกฤต" ก็ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจน ปล่อยให้โรงพยาบาลเป็นผู้วินิจฉัยเอง ซึ่งอาจเป็นปัญหา เมื่อโรงพยาบาลต้องตัดสินใจส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยเฉพาะสิทธิข้าราชการที่ไม่ได้มีโรงพยาบาลต้นสังกัดเป็นของตัวเอง

สิ่งที่ นพ.ไพบูลย์ พบอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังการประกาศนโยบายการเข้ารับบริการของผู้ป่วยในมากขึ้นแต่การรับบริการผู้ป่วยนอกกลับลดลง ซึ่งเขาตั้งสมมติฐานว่า โรงพยาบาลเอกชนอาจไม่รู้สึกสบายใจในอัตราผู้ป่วยนอก หรืออาจให้ผู้ป่วยนอกจ่ายเต็ม นอกจากนี้อาจมีการตกแต่งข้อมูลจากผู้ป่วยนอกเป็นผู้ป่วยในก็เป็นได้

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ นพ.ไพบูลย์ ระบุให้พัฒนาระบบสารสนเทศที่สามารถติดตามขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่จุดเกิดเหตุไปจนถึงสิ้นสุดการรักษาเพื่อให้เข้าถึงข้อมูล และนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการและการส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบริการ

ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด สามกองทุนสุขภาพ พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีกลไกจัดการ เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้รับการดูแลต่อเนื่อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 เมษายน 2556