ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประเมิน 1 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี พบปัญหาอื้อ นักวิชาการแนะ ยกนิยามป่วยฉุกเฉินใหม่ ระบุที่ผ่านมา รพ.เอกชน ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนด ด้าน สปสช.ยันคำนวณค่ารักษาตามหลักวิชาการ พร้อมตั้งคณะกรรมการวิจัยร่วมกัน ยกต้นทุนรักษาให้เป็นที่ยอมรับ

หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมสามกองทุน ภายใต้นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง แต่1ปีการรักษาพบปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย โดยอ้างว่าไม่เข้าข่ายการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และยังพบปัญหาอีกจำนวนมาก

นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการประเมินการใช้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉินร่วมสามกองทุน เปิดเผยว่า จากงานวิจัยโครงการในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ประชาชนเข้ารับการรักษา เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวกับอุบัติเหตุ พบว่าอัตราการเข้ารับบริการด้วยโรคประจำตัวนั้น มากกว่าการเข้ารับบริการจากอุบัติเหตุ ดังนั้นในเรื่องของการคัดกรองผู้ป่วยจะต้องมีการพูดคุยและตกลงกันให้ชัดเจน ว่าอาการเจ็บป่วยแบบไหนเข้านิยามฉุกเฉินบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ยังคงพบปัญหาการเรียกเก็บค่าเงินค่ารักษาอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น

นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจึงเห็นว่าต้องมีการทบทวนนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินใหม่ให้ชัดเจน และต้องเป็นที่ยอมรับระหว่างรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากขณะนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนมองว่าถูกกระทำจากภาครัฐฝ่ายเดียว เพราะในขั้นตอนการนิยามการเจ็บป่วยภาคเอกชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ว่านิยามการเจ็บป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์นั้นครอบคลุมอะไรบ้าง เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของทุกฝ่าย

แนะชัดเจนเน้นเจ็บป่วยฉุกเฉิน สีแดง

อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าการเจ็บป่วยทางการแพทย์ ถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับทรัพยากรของประเทศที่ค่อนข้างจำกัด เราจึงไม่สามารถกำหนดนิยามกว้างๆ ให้ครอบคลุมทุกโรคได้ ดังนั้นการนิยามคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินจึงต้องชัดเจน และเน้นไปเลยว่าเป็นเฉพาะกลุ่มสีแดง เพื่อลดปัญหาความคลุมเครือและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน นพ.ไพบูลย์ กล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องของค่าตอบแทน ก็เป็นประเด็นที่โรงพยาบาลเอกชนกังวลมาก เนื่องจากอัตราค่าตอบแทนโดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ใน เอกชนยังมองว่าไม่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องตกลงกันให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และเชื่อว่าในระยะสั้นจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เพราะว่าการจ่ายค่าตอบแทน สปสช.จะจ่ายตามต้นทุนการรักษา

ซึ่งมุมมองในเรื่องของต้นทุนระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีวิธีคิดที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยมารักษาด้วยอาการเจ็บหน้าอก และพบว่าสาเหตุเกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากกระเปาะเส้นเลือดในทรวงอกปริ รายละเอียดในการรักษาก็ต้องต่างกันรวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้วย

เอกชนยี้ค่ารักษาหน่วยละ 10,500 บาท

ส่วนค่ารักษาที่ สปสช.จ่ายโดยกำหนดเป็นค่าหน่วยน้ำหนัก หน่วยละ 10,500 บาท เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมองว่าไม่คุ้ม โดยจากการไปสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง เขาพอใจที่อัตราหน่วยละ 15,000 บาท มากกว่า ซึ่งก็เป็นอัตราที่มีเหตุผลพอสมควร เพราะที่ผ่านมา สปสช.ก็ใช้อัตรานี้ในการจ่ายผู้ถือสิทธิประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตรงนี้จึงมองว่าหากภาครัฐต้องการผลักดันนโยบายดังกล่าวให้สัมฤทธิผล ก็ควรจะหยิบยกข้อเสนอนี้ไปพิจารณา และหาทางพูดคุยเพื่อตกลงกันให้ได้

สปสช. ยัน รพ.เอกชน ยังกำไร

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) กล่าวว่า การจ่ายเงินของ สปสช. ให้กับโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น คิดตามต้นทุนที่แท้จริงในการรักษา และจะจ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ตามระบบวินิจฉัยโรคร่วม(DRG) โดยค่าน้ำหนักเหล่านี้ อ้างอิงจากงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งถูกนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลก

โดยทาง สปสช. กำหนดการจ่ายสำหรับโรงพยาบาลเอกชน ตามค่าหน่วยน้ำหนัก 1 แต้ม คิดเป็นเงิน 10,500 บาท ทางโรงพยาบาลเอกชนบอกว่าราคานี้ยังขาดทุน แต่จากการคิดต้นทุนตามหลักวิชาการของตนแล้วนั้น พบว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษา 1 หน่วยน้ำหนัก ต้นทุนจะอยู่ที่ 9,428 บาท

อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินตามค่าหน่วย น้ำหนักนั้น ทาง สปสช. ไม่ได้จ่ายให้เพียงแค่ 10,500 บาท แต่ยังมีการเพิ่มให้ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มอวัยวะเทียม ประมาณ 200 กว่ารายการ เช่น ลิ้นหัวใจเทียม ข้อสะโพก ข้อเข่า และสายสวนหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ยาบางตัว เช่น สเตรปโตไคเนส(Streptokinase) ซึ่งเป็นยาละลายลิ่มเลือด ทางเราก็มีให้ ดังนั้นรวมแล้วการที่ สปสช. จ่าย 1 แต้ม ซึ่งรวมกำไร 30% แล้ว ถือว่าจ่ายใกล้เคียงกับต้นทุนการรักษาของโรงพยาบาลเอกชน

ตั้งคณะกรรมการวิจัยต้นทุนร่วมกัน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เสนอเรื่องการคิดค่าใช้จ่ายแบบนี้ให้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แต่ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าวิธีคิดของผมนั้นอาจจะหยาบไป ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาวิจัยต้นทุนที่แท้จริง เพื่อปรับราคาให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน เห็นได้ชัดว่าโรงพยาบาลเอกชนตามต่างจังหวัด ยินดีที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉินเหล่านี้มากเพราะได้กำไร แต่ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร จะไม่ค่อยอยากรับผู้ป่วยฉุกเฉินเท่า ไหร่ เนื่องจากทำให้เสียราคา ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา 1 ปี พบว่า สปสช. ใช้เงินไปทั้งหมด ประมาณ 350 ล้านบาท โดยจ่ายให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ 150 ล้านบาท จ่ายให้ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม 20 ล้านบาท และจ่ายให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 180 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ(สีแดง) ได้กว่า 8 พันคน และรองลงมาคือกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน(สีเหลือง)

ชี้รพ.เอกชน จี้สำรองจ่ายก่อนรับรักษา

ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า แม้ว่าในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี แต่ขณะนี้ยังคงพบปัญหาและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเข้าบริการเข้ามาที่ตนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชน ที่มักจะปฏิเสธการรักษา โดยบอกกับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ว่าไม่ได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว และให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยถือสิทธิอยู่ หรือบางแห่งก็ต้องให้ผู้ป่วยหรือญาติเซ็นต์ยินยอมสำรองจ่ายเงินก่อนถึงจะรับรักษา ตรงนี้จึงถือว่าเอาความเป็นความตายของคนมาเป็นตัวประกัน

ขณะเดียวกันแม้ว่าบางโรงพยาบาลเอกชนจะยอมรับรักษา แต่ก็ได้ตั้งกฎเกณฑ์เรื่องเงื่อนเวลาขึ้นมา ว่าจะรับรักษาเพียงแค่ 72 ชม.เท่านั้น ซึ่งก่อนจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยถือสิทธิรักษาตามกองทุน จะต้องจ่ายเงินให้กับทางโรงพยาบาลก่อน นอกจากนี้ก็ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ยังบังคับให้ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาไปก่อน และจะจ่ายคืนให้หลังจาก สปสช. จ่ายเงินให้กับทางโรงพยาบาล จึงถือว่าไม่เป็นไปตามประกาศและรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ ที่ระบุว่าเมื่อประชาชนเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องถามสิทธิและจ่ายเงินสำรอง เพราะ สปสช.จะทำหน้าที่ตามจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอง

ผู้เสียหายแบกรับหนี้สินล้นตัว

กรณีที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบจากการแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จริงๆ แล้วเข้าข่ายนิยามฉุกเฉินทั้ง 2 กรณี เนื่องจากเป็นการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ แต่กรณีแรกต้องยินยอมเซ็นต์สำรองจ่ายเงินก่อน ซึ่งทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน 4 แสนกว่าบาท และเรียกให้ไปรับเงินคืนภายหลัง ซึ่งเป็นเงินที่เบิกได้จากทาง สปสช.เพียง 76,000 บาท เท่านั้น ทำให้ผู้เสียหายต้องแบกรับหนี้สินจำนวนมาก ส่วนกรณีที่สองโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ค่ารักษา 3 แสนกว่าบาท โดยทางผู้ป่วยต้องสำรองจ่ายไปก่อน และจากการสอบถามคาดว่าน่าจะสามารถเบิก สปสช.ได้เพียง 8 หมื่นบาท เท่านั้น นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวด้วยว่า ในเมื่อรัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สิ่งสำคัญที่ภาครัฐควรจะต้องทำ นั่นก็คือการพูดคุยและตกลงเงื่อนไขการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนให้ได้ ไม่ใช่พอประชาชนเข้าไปรักษาแล้วต้องเป็นแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 พฤษภาคม 2556