ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหันมาควบรวมกิจการกัน เพื่อให้มีโรงพยาบาลหลายแบรนด์ในเครือ ใช้รองรับตลาดกำลังซื้อที่ต่างกัน หรือจะใช้การเปลี่ยนแบรนด์โรงพยาบาลท้องถิ่นมาเป็นแบรนด์ตัวเองเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งซึ่งหลังจากนี้ลักษณะการขยายตัวของธุรกิจดังกล่าวจะยังคงไปในทางนี้ต่อไป ดังนั้นโรงพยาบาลเล็กที่ทำธุรกิจไร้เครือข่ายจึงมีโอกาสถูกรายใหญ่กลืนกินสูง เข้าทำนอง "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก"

นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ กรรมการรองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ กล่าวว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยจากนี้จะไม่ใช่รูปแบบแข่งขันกันเอง แต่ร่วมมือกันให้แข่งขันกับโรงพยาบาลต่างประเทศ เพิ่มอำนาจต่อรองซื้อเวชภัณฑ์ต้นทุนถูกลง รักษาบุคลากรการแพทย์ไม่ให้ไหลไปทำงานต่างประเทศ เพราะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ทำให้คนไทยทำงานในประเทศอาเซียนได้เสรี บุคลากรทางการแพทย์ไทยขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในอาเซียนหากโรงพยาบาลไทยไม่แข็งแกร่งจะเผชิญปัญหาบุคลากรไหลออกได้

สำหรับคนไทยคงไม่ต้องกังวลว่าเมื่อโรงพยาบาลรวมตัวกันจะปรับราคาขึ้นจนเข้าไม่ถึงบริการ เช่น บริษัทมีโรงพยาบาล 5 แบรนด์ ไม่ได้พุ่งเป้าหมายตลาดต่างประเทศอย่างเดียว แต่มีโรงพยาบาลที่เน้นให้บริการคนไทยด้วย คือ เปาโล เมโมเรียล เจาะกลุ่มคนไข้ในประเทศกำลังซื้อระดับกลาง มีประกันสังคม ประกันสุขภาพ และพญาไทเจาะกลุ่มคนไข้ในประเทศที่เป็นตลาดระดับพรีเมี่ยม ส่วนอนาคตตั้งเป้าหมายขยายตลาดกลุ่มที่รักษาพยาบาลด้วยบัตรทองให้ได้ในปีหน้า

ส่วนการขยายธุรกิจนั้น ตั้งเป้าหมายว่าจะมีโรงพยาบาลในเครือ 50 แห่ง ในปี 2558 โดยขยายทุกแบรนด์ เน้นแบรนด์เปาโล เมโมเรียล ซึ่งจะไม่ขยายเพียงแบรนด์บีเอ็นเอช

นพ.ชาตรี กล่าวว่า การมีโรงพยาบาลในเครือหลายแบรนด์ ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการการแพทย์ที่มีคุณภาพดีขึ้นเช่น จากเดิมเคยมาตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่ค่ารักษาบริการสูงมาก จึงต้องไปรอเข้าโรงพยาบาลรัฐเพื่อรักษาปัจจุบันมีโอกาสรักษาโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น โดยอาจเลือกโรงพยาบาลในเครือที่บริหารต้นทุนถูกลง ขณะที่คุณภาพบริการยังดี โดยที่โรงพยาบาลก็ไม่เสียส่วนแบ่งตลาด เพราะคนไข้ยังใช้บริการโรงพยาบาลในเครือด้วยกัน เข้าทำนอง"เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน"

นพ.ตฤณ จารุมิลินท ประธานฝ่ายแพทย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการระบุว่า 1-2 ปีนี้จะเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลท้องถิ่น เพื่อให้บริการคุณภาพ ราคาย่อมเยา และจะใช้ยี่ห้อท้องถิ่นไว้เช่นเดิม

วิโรจน์ พวงโลก ผู้ช่วยรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ โรงพยาบาลปิยะเวท ระบุว่า แม้อนาคตโรงพยาบาลเอกชนจะรวมตัวกันมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลเอกชนที่มีแห่งเดียวจะอยู่รอดไม่ได้ อาจเสียเปรียบต้นทุนบ้าง แต่หากมีจุดเด่น มีมาตรฐานดี มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ก็ยังอยู่ได้ ในทางกลับกันโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมาก อาจควบคุมมาตรฐานทุกแห่งได้ไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ใช้บริการไม่พึงพอใจ

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่คนไข้เลือกใช้บริการ ไม่ได้คำนึงแค่ราคา แต่เลือกที่ชื่อเสียงของแพทย์ในส่วนของโรงพยาบาลปิยะเวทมั่นใจความสามารถแข่งขัน เพราะตั้งในย่านใจกลางเมือง ใกล้จุดเชื่อมต่อแอร์พอร์ตลิงค์เดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิสะดวก ปัจจุบันผู้ใช้บริการเป็นคนไทย 50%ต่างชาติ 50%

นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี มองว่าการแข่งขันของโรงพยาบาลในอนาคต คงเน้นเปิดศูนย์รักษาเฉพาะทางมากขึ้น เน้นศูนย์บริการเฉพาะทางที่โรงพยาบาลอื่นยังไม่มี

อย่างไรก็ตาม นอกจากธุรกิจโรงพยาบาลจะรวมตัวกันในแนวราบ เข้าซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์โรงพยาบาลอื่นเพื่อลดต้นทุนใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสูงราคาแพงให้คุ้มค่าใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายส่งผู้ป่วยระหว่างกันแล้ว

การขยายธุรกิจในแนวดิ่งให้ครบวงจร ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจเวชภัณฑ์มาดำเนินงานเอง เพื่อบริหารต้นทุนให้ต่ำเช่นกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เข้าซื้อโรงงานผลิตน้ำเกลือ โรงงานผลิตถุงมือยาง เมื่อเป็นเช่นนี้โรงพยาบาลเล็กทุนไม่หนา ไม่มีจุดเด่นบริการที่ชัดเจน คงยืนในธุรกิจลำบาก จึงต้องเร่งปรับตัวสร้างจุดขายให้ได้ เพื่อรักษาพื้นที่ยืนในธุรกิจต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2556