ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แพทย์ชนบทเผย กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยมีแผนการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในชนบทอย่างจริงจัง ความเหลื่อมล้ำของแพทย์ระหว่างกรุงเทพกับภาคต่างๆยังสูงมาก ภาคอีสานมีแพทย์เฉลี่ยต่อประชากรน้อยที่สุด คือมีแพทย์เฉลี่ยเท่ากับประเทศกัมพูชาและลาว ในขณะที่กรุงเทพนั้นมีแพทย์เพิ่มขึ้นอย่ามาก แต่ก็ใช่ว่าคนกรุงเทพจะเข้าถึงบริการสุขภาพไม่รอนาน แต่กลับรอนานยิ่งกว่าเพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไหลสู่โรงพยาบาลเอกชนและบริการการแพทย์ด้านการเสริมความงาม

นพ.วชริระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนชุมพวง โคราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทให้ข้อมูลว่า “ หากเข้าไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต จะพบว่าในธุรกิจความงามนั้นขยายตัวอย่างมาก และเป็นธุรกิจที่กฎหมายบังคับที่ต้องมีแพทย์อยู่ประจำในการสั่งจ่ายยา  ซึ่งทำให้เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดูดแพทย์ไปจากทั้งชนบทและเมือง วุฒิศักดิ์คลินิกมีกว่า 140 สาขา นิติพลคลินิกก็ขยายตัวจนมีกว่า 150 สาขา  เงินเดือนแพทย์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 150,000 บาท  ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีการขยายตัวอย่างมาก เฉพาะโรงพยาบาลกรุงเทพมีแพทย์กว่าเต็มเวลาและแพทย์ part time กว่า 7,000 คนใน 32 สาขา อีกทั้ง รพ.กรุงเทพยังมีแผนจะขยายสาขาให้ครบ 50 สาขาในปี 2558 ซึ่งต้องการแพทย์รวมทั้งสิ้นกว่า 11,000 คน แม้ว่าปัจจุบันผลิตแพทย์เพิ่มได้ปีละเกือบ 2,000 คน แต่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งยังแออัด เพราะไหลไปอยู่ภาคเอกชน “

นพ.วชิระกล่าวต่อว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ 40,000 คน มีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนราว 750 อำเภอทั่วประเทศเพียง 3,000 คน ดูแลประชาชนในชนบทกว่า 40 ล้านคน โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งรวมกันยังมีแพทย์ไม่ถึงครึ่งของโรงพยาบาลกรุงเทพเสียอีก นับเป็นเรื่องเศร้าของสังคมไทย ที่ละเลยการดูแลสุขภาพคนชนบท ยิ่งกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของ รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่หนุนนโยบายเมดิคัลฮับอย่างสุดลิ่มที่มประตู ก็จะยิ่งสร้างการเติบโตแก่ภาคเอกชน ดูแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชน อีกทั้งนโยบาย P4P เองสิ่งซ้ำเติมคนทำงานในชนบท เพราะจะเก็บแต้มที่โรงพยาบาลอำเภอไกลๆกันดารหรือโรงพยาบาลจังหวัดในเมืองใหญ่ก็ได้แต้มแลกเงินเหมือนกัน เผลอๆแต้มของโรงพยาบาลใหญ่มีมากกว่าด้วย อีกทั้งงานในโรงพยาบาลชุมชนมีความหลากหลายยากต่อการเก็บแต้มอย่างเป็นะรรม เช่นนี้แล้วใครจะอยู่ทำงานในชนบทในระยาว”

นพ.วชิระ กล่าวว่า “ผมขอถาม รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และปลัดกระทรวง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายรวมทั้งเป้าหมายในการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในชนบทหรือไม่ หากมีจะใช้แนวทางใด แต่จากปัจจุบันเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในสมองของ รมต.และปลัดกระทรวง แบบนี้จะเรียกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสนับสนุนแพทย์พาณิชย์กันแน่ เมื่อรัฐมนตรีไม่เคยใส่ใจการปกป้องสุขภาพคนจน การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน จึงสมควรไล่ออกไปให้คนอื่นที่มีความสามารถและมีสติปัญญามาทำหน้าที่เป็น รมต.สาธารณสุขแทน”

นพ.ปองพล วรปาณิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ข้าราชการดีเด่น แพทย์ชนบทผู้เป็นขวัญใจชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า “ โรงพยาบาลชุมชนเป็นหน่วยบริการที่สำคัญยิ่ง แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ดูแล เสมือนลูกเมียน้อย ขาดแคลนเรื้อรังทั้งบุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์การแพทย์ แต่นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ที่มีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและวิชาชีพสุขภาพที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน  ทำให้มีแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 1,289 คน หรือเพิ่ม 46.6%  แต่ผู้บริหารกระทรวงในวันนี้กลับคิดแต่จะยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและใช้ p4p แทน ซึ่งเป็นค่าตอบแทนคนละส่วนกันแทนกันไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจากประกาศฉบับ 4,6 เหมือนเดิม  และให้เป็นความสมัครใจของโรงพยาบาลชุมชนในการทำ p4p หาก P4P ดีจริงก็จะมีคนทำโดยสมัครใจ หากไม่ดีไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่มีคนสมัครใจทำ กระทรวงก็ต้องทำใจ อย่ายัดเยียด อย่ามาบังคับให้ต้องยอมรับนโยบายที่ไม่เหมาะสมกัน”