ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข หรือ 'กระทรวงหมอ" ที่ผ่านมาก็มีเรื่องมีประเด็นเป็นชนวนให้ 'วุ่น ๆ" อยู่เป็นระยะ ซึ่งช่วงนี้ที่เป็นประเด็นเป็นชนวนวุ่นมากที่สุดเห็นจะได้แก่นโยบายใหม่ นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานและคุณภาพงานหรือ "พีฟอร์พี" ที่ถึงขั้นบานปลายเป็นการเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ

เรื่องวุ่น ๆ เรื่องนี้เริ่มมีเวทีเจรจากันแล้ว แต่บางคนก็อาจยังไม่ชัดเจนถึงปฐมเหตุ

ทั้งนี้ กับเรื่องนี้ ในด้านหนึ่ง มีการมองว่าระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานนั้นไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ทางฝ่ายที่มีนโยบายจะนำมาใช้ก็ยืนยันว่าเหมาะแล้วควรแล้วกับสภาพการณ์

"เป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่เก็บคะแนนจากงานที่ทำตามปกติ ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่ทำ เพื่อไม่ให้มีการเลือกทำงานใดงานหนึ่ง และการคิดค่าคะแนนจะเป็นการคิดทั้งคะแนนส่วนบุคคล องค์กร และทีมงาน เป็นการวัดคุณภาพของงานที่เกิดขึ้น ทีมงานที่ทำภาคภูมิใจ คนที่ทำงานหนัก และงานที่ยุ่งยากซับซ้อน ภาคภูมิใจในการทำงาน" นี่เป็นบางส่วนจากการระบุไว้ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เกี่ยวกับระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน พร้อมมีการระบุถึงผลจากการดำเนินการตามระบบนี้

ทางฝ่ายที่มีนโยบายนำระบบดังกล่าวนี้มาใช้ มีการอ้างอิงถึงบางโรงพยาบาลที่ทดลองดำเนินการตามระบบนี้ ประมาณว่า ระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานเป็นการส่งเสริมให้มีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น บุคลากรมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น อัตรากำลังบุคลากรสอดคล้องกับภาระงานมากขึ้น โดยเหล่านี้นำสู่การเพิ่มการให้บริการแก่ประชาชน ประชาชนที่รับบริการมีความพอใจในบริการเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการระบุไว้อีกว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานนั้น คือการ จ่ายตามผลการปฏิบัติงานเป็นการ จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคนที่ทำงานเกินเกณฑ์ ซึ่งหลักการนี้ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่ในรายละเอียดประกอบ เช่น เรื่องพื้นที่ เรื่องวิธีการจ่าย เรื่องวิธีการเก็บคะแนน และรวมถึงเรื่องวงเงินที่จะจ่ายนั้น ในระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนได้เปิดให้มีการปรับเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสม ไม่ตึงตัวจนเกินไป โดยที่เป็นอำนาจของผู้ตรวจราชการ และผู้บริหารกระทรวง

ก็เป็นบางส่วนจากการกล่าวอ้างเกี่ยวกับบุคลากร และมีการระบุเพิ่มเติมในส่วนของประชาชนด้วย

โดยมีการกล่าวอ้างถึงประโยชน์ของประชาชนไว้ บางช่วงบางตอนคือ การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือตามผลการปฏิบัติงาน ไม่เพียงมีจุดมุ่งหมายเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วย แต่ยังมีจุดมุ่งหมายครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันปัญหาสุขภาพ งานวิชาการด้านสุขภาพ งานเยี่ยมบ้าน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพ ซึ่งการใช้ระบบนี้จะทำให้กิจกรรมบางอย่างได้รับการบันทึก จากเดิมที่ไม่เคยถูกบันทึกก็จะถูกบันทึก ซึ่งก็จะทำให้คนที่ทำงานในส่วนต่าง ๆ ได้เห็นถึงคุณค่าของงาน และผลดีก็จะตกอยู่กับประชาชน

"โรงพยาบาลหลายแห่งที่ดำเนินการแล้ว ได้ผลประเมินชัดเจนว่า ทำให้เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นที่จะทำงาน แม้กระทั่งระดับปฏิบัติการอย่างเจ้าหน้าที่เวรเปล"เป็นอีกบางส่วนจากการระบุของปลัดฯสาธารณสุข

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ซึ่งยืนกรานเรื่องระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือตามผลการปฏิบัติงาน ก็มีการกล่าวอ้างไว้ประมาณว่า ระบบนี้เป็นการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต ขณะเดียวกันก็ทำให้คนหรือบุคลากรด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องเพิ่มคน

"การวัดผล นี่คือหัวใจของระบบนี้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะช่วยในด้านการบริหาร"ทาง รมว.สาธารณสุขระบุไว้ พร้อมทั้งยังได้บอกไว้อีกว่า สิ่งที่จะเกิดตามมา หรือในส่วนของสิ่งที่ประชาชนจะได้รับกับบริการด้านสุขภาพนั้น ก็จะมีทั้งเชิงปริมาณ จากการที่ระบบกระตุ้นให้เกิดการทำงานมากขึ้น และเชิงคุณภาพ จากการได้รับบริการที่เร็วขึ้น มีคุณภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงจากการทำงานด้านการป้องกันปัญหาทางด้านสุขภาพ

"เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำ เพราะเป็นการวัดผล เพื่อจะได้ปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้" "และยังได้ประโยชน์ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ระหว่างภาครัฐกับเอกชน"นี่ก็เป็นอีกบางช่วงบางตอนจากการระบุไว้ของ รมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับพีฟอร์พี หรือระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานในส่วนของบุคลากรด้านสุขภาพในส่วนของภาครัฐ ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยที่จะนำมาใช้ และมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่อาจจะยังไม่ค่อยชัดเจนเกี่ยวกับปฐมเหตุเรื่องวุ่น ๆ เรื่องนี้ จากที่ว่ามาข้างต้นโดยสังเขป ก็คงจะฉายภาพปฐมเหตุได้ในระดับหนึ่ง-ในด้านหนึ่ง ส่วนใครจะคิดเห็นประการใดก็ย่อมสุดแท้แต่

และกับฉากจบของเรื่องวุ่น ๆ เรื่องนี้ ยังต้องจับตา ที่สุดจะลงเอยแบบไหน? อย่างไร? ยังต้องตามดู...

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มิถุนายน 2556