ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เล็งเพิ่ม เบี้ยพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์  ผลพวงจากค่ารักษาพยาบาลพุ่ง อัตราเคลมสูงเฉลี่ย1หมื่นบาทต่อคัน ในขณะที่พ.ร.บ.ปัจจุบันคิดแค่ 300 บาท ต่อปี ย้ำขณะนี้รอการประกาศค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลรัฐใหม่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบขึ้นค่าเบี้ยพ.ร.บ.

นายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เพื่อขอปรับอัตราเบี้ยประกัน พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์เพิ่ม จากปัจจุบันคิดที่อัตรา 300 บาทต่อปี

ส่วนจะเพิ่มเป็นจำนวนเท่าไรนั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษา  และรอกระทรวงสาธารณสุขประกาศปรับขึ้นอัตราค่ารักษาโรงพยาบาลของ โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศว่าเป็นอัตราเท่าไหร่   เพื่อดูว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของผู้เอา ประกันที่เพิ่มจะส่งผลให้บริษัทขาดทุนมากน้อยแค่ไหน

"ปัจจุบันรถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงสูงและ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงปีละ 250,000-260,000 ราย ซึ่งตามหลักของพ.ร.บ.ภาคบังคับไม่ได้หวังผลกำไร แต่ถ้าขาดทุนก็จำเป็นต้องเพิ่มเบี้ย  โดยเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต้องเหมาะสมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และถ้าไม่ปรับเพิ่มเบี้ยภาคบังคับรถจักรยานยนต์ก็อาจจะต้องขอปรับเพิ่มวงเงินสมทบภาคบังคับที่ส่งให้บริษัทกลางสูงขึ้นกว่าเดิม จากปัจจุบันที่ส่งให้บริษัทกลางในอัตรา 12.25% เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น"

ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถขายประกัน พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ได้ประมาณ 14 ล้านกรมธรรม์ จากปีที่ผ่านมา 13 ล้านกรมธรรม์ โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาขายพ.ร.บ.ได้แล้วประมาณ 1 ล้านกรมธรรม์คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท และสิ้นปีคาดว่าจะขายกรมธรรม์ภาคบังคับรถจักรยานยนต์ได้เงินกว่า  4,200 ล้านบาท ส่วนตัวเลขการเคลมค่าสินไหมในปี 55 ที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อราย 10,000 บาท หรือคิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 4 ล้านบาท จากเรื่องที่ขอเคลมทั้งหมด 300,000 รายการ

สำหรับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ นั้นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 10 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยรถในขณะนั้น รวมทั้งสิ้น 71 บริษัท ในปัจจุบันบางบริษัทประกันวินาศภัยได้มีการควบรวมกิจการกัน หรือหยุดการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันคงเหลือผู้ถือหุ้นจำนวน 61 บริษัท

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ผู้ประสบภัยไม่ได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิ์ในการขอรับค่าสินไหมทดแทน เพราะในบางพื้นที่ไม่มีสาขาของบริษัทประกันภัยหรือแต่ละบริษัทมีแนวทางในการดำเนินการที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในฐานะกรรมการ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และองค์กรภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนพ.ศ. 2554-2563 โดยพร้อมเพรียงกันกับทุกประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

โดยในปีแรกจะรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ ดังเช่น โครงการ"คนขับ คนซ้อนปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100%" ซึ่งการใช้ รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยนับวันจะมีปริมาณมากขึ้นด้วยการจราจรในเมืองใหญ่ ๆ มีปริมาณหนาแน่นรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีผู้ใช้มากที่สุดเพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และรวดเร็วในการเดินทาง แต่อันตรายของอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ก็มีสูงเช่นกัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ขับขี่ หรือ ผู้โดยสารจะได้รับอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะที่ศีรษะ ส่งผลให้เกิดความพิการ หรือ อันตรายต่อชีวิตได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 มิถุนายน 2556