ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พูดกันมาก...ว่าด้วยเรื่อง "ข้าว" ในโครงการรับจำนำข้าว ว่า "เน่า"           หรือ"ไม่เน่า"กรณีไม่เน่า ก็ยังพูดกันต่อว่า กินแล้วจะมีผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ เพราะข้าวที่เก็บไว้นาน อาจจะต้องเผชิญกับ มด มอด แมลง จึงต้องหาทางป้องกันด้วยการฉีดยา พ่นยา หรือรมยา

"ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกว่า ปกติ...เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะเอาไปตาก เพื่อให้ข้าวเปลือกแห้งในระดับหนึ่ง หลังจากนั้น ก็จะเอาไปเข้าเครื่องอบแห้งให้ได้ระดับความชื้นที่เหมาะสม คือ ให้ชื้นน้อยกว่าร้อยละ 15 เพราะข้าวเปลือกที่มีความชื้นมากเกินไปจะไม่สามารถนำไปสีให้ออกมาเป็นข้าวสารได้ เมื่ออบแห้งแล้ว ก็จะมีการรมสารเคมีเพื่อป้องกันมอดอีกชั้นหนึ่งก่อนเก็บ ปกติการรมยาข้าวโดยใช้สารเคมีในขณะนี้คือ "ฟอสฟีน" (Phos phen) ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ให้การรับรอง แต่ผู้ใช้จะต้องใช้ตามขั้นตอนและข้อกำหนด

ประพัฒน์กล่าวว่า การรมยาข้าวสารและข้าวเปลือกเพื่อป้องกันมอดและแมลงนั้น เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว เพราะการที่ต้องเก็บรักษาทั้งข้าวสารและข้าวเปลือกที่มีความชื้นต่างๆ กันนั้น ย่อมถูกรบกวนโดยมด มอด และแมลง เป็นเรื่องปกติ โรงสี หรือโกดังต่างๆ ที่จะต้องเก็บข้าวไว้ในปริมาณมากๆ จึงต้องรมยากันมอด มิฉะนั้น ข้าวที่เก็บไว้จะเสียหาย

"ในสมัยโบราณ เราไม่ได้เก็บข้าวเอาไว้เยอะขนาดนี้ ชาวนาจึงไม่มีความจำเป็นต้องพ่น หรือรมยากันมด มอด แมลง ในข้าวสาร หรือข้าวเปลือกของตัวเอง แต่จะใช้วิธีการนำข้าวไปตากแดด จนแน่ใจว่าข้าวแห้งพอที่จะไม่สร้างปัญหาแล้วจึงเอาไปเก็บ แต่สมัยนี้ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะมีข้าวมารวมกันมาก ล่าสุด ที่ผมไปดูมา บางโกดัง เอาข้าวเขียวๆ มาเก็บไว้ก็มี ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ข้าวเขียวนั้นมีความชื้นมากอยู่แล้ว หากไม่รมยาจะมีปัญหาแน่นอน"ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว และว่า ส่วนเรื่องจะมีสารเคมีอะไร ชนิดไหนตกค้างอยู่ในเมล็ดข้าวนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งที่แหล่งผลิต และแหล่งขายข้าวสารโดยตรง

ด้านนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สารเคมีที่ผู้ประกอบการใช้ในการป้องกันมด มอด แมลงที่จะมารบกวนข้าวในไซโล หรือในโกดัง คือ สารฟอสฟีน ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายกับลูกเหม็น วิธีการใช้คือ จะนำฟอสฟีนไปวางไว้ตามจุดต่างๆ รอบกองข้าว แล้วใช้ผ้าใบคลุม ลักษณะการทำงานของสารเคมีชนิดนี้คือ สารจะระเหิดขึ้นมาภายใต้ร่มผ้าใบที่คลุมกองข้าว ซึ่งแรงดึงดูดของโลกจะทำให้ตัวสารเคมีที่ระเหิดขึ้นไปกระจายตัวลงสู่ด้านล่าง ครอบคลุมกองข้าวไม่ให้เหล่าแมลง มอด เข้าไปกัดกิน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะมีการรมยาข้าวในไซโล หรือในโกดังของตัวเอง ทุกๆ 2-3 เดือน

"ระหว่างคลุมผ้าใบ ยาก็จะมีฤทธิ์ป้องกันแมลง มด มอด แต่เมื่อใดที่เปิดผ้าใบออก ยาก็จะระเหิดหายไปในอากาศ เหมือนลูกเหม็น จะไม่มีการตกค้างใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ ในวงการคนขายข้าวก็จะรู้กันดีอยู่แล้ว เรื่องที่ว่าสารเคมีจากการป้องกันมอดตกค้างในข้าวจึงไม่น่าจะมี" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวกล่าว

ส่วนเรื่องที่มีการพูดกันว่า สารเคมีที่ตกค้างในเมล็ดข้าว ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เกิดจากการใช้ยารมควันป้องกันมอดมากเกินไปนั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวคนเดิม บอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประกอบการจะใช้ยามากเกินไป เพราะฟอสฟินมีราคาแพงมาก ที่เป็นปัญหาคือ ที่ผ่านมาใช้ยาน้อยเกินไป จนแมลงมอดสามารถเข้ามาทำลายข้าวได้ และยืนยันว่าสารเคมีชนิดนี้ไม่ได้เกาะติดและสะสมในเมล็ดข้าวแต่อย่างใด

ดังนั้น อย่าเพิ่งตื่นตระหนกในเรื่องนี้ จนเกินไป

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 21 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--