ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผย ข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ระดับโลก พ.ศ.2554 ที่พบว่า คนไทยที่มีฐานะยากจนที่สุดที่มีรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อเดือน มีถึง 1,373,333 คน ที่ใช้เงินซื้อบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงานเฉลี่ยเดือนละ 547.5 บาทต่อคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.4 ของรายได้ของแต่ละคนต่อเดือน

การสำรวจเดียวกัน พบว่า ในกลุ่มประชากรที่จนที่สุดที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 95 เชื่อว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ ร้อยละ 96.6 เชื่อว่า การสูบบุหรี่เป็นการติดสิ่งเสพติด ร้อยละ 47.5 มีความคิดที่จะเลิกสูบบุหรี่ และ ร้อยละ 36.5 พยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ในช่วง 12 เดือน ก่อนการสำรวจ แต่เลิกไม่สำเร็จ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ  กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจชี้ให้เห็นถึงอำนาจการเสพติดที่รุนแรงอย่างยิ่งของบุหรี่ ที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ที่จนที่สุดใช้เงินถึงเกือบ 3 ใน 10 ที่หาได้ไปกับการซื้อบุหรี่สูบในแต่ละเดือน ซึ่งนอกจากเป็นการสูญเสียเงินทองที่มีน้อยมากอยู่แล้ว ที่น่าจะถูกนำไปใช้กับสิ่งที่มีประโยชน์ต่อครอบครัวมากกว่า อาทิ อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้ว เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ขึ้น ก็ยิ่งจะเป็นภาระแก่ตัวเองและครอบครัวอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามมาตรการควบคุมยาสูบที่ผ่าน ๆ มา ทำให้คนไทยที่เคยสูบบุหรี่เลิกสูบได้แล้วร้อยละ 27.2 และกลุ่มประชากรที่จนที่สุดก็เลิกสูบได้ร้อยละ 26 รัฐบาลจึงควรเพิ่มมาตรการควบคุมยาสูบให้จริงจังมากขึ้น โดยไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่รณรงค์เท่านั้น ทุกกระทรวงต้องช่วยกัน โดยเฉพาะการขึ้นภาษีที่จะช่วยให้คนจนเลิกสูบ และการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนที่สุดให้เลิกสูบโดยเพิ่มยาอดบุหรี่ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ซึ่งหากคนที่จนที่สุดเลิกสูบบุหรี่ได้ นอกจากทำให้สุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาความยากจนที่ตรงจุดที่สุดด้วย