ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิงคโปร์/จาการ์ตา (เอเอฟพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - ควันพิษจากไฟป่าในอินโดนีเซียพัดเข้าปกคลุมสิงคโปร์ ส่งผล ให้ระดับมลพิษในอากาศเข้าสู่ระดับอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ของประชาชน ด้านนายกรัฐมนตรีเตือนสภาพอากาศที่มี หมอกควันปกคลุมจะยังดำเนินต่อไปอีกหลายสัปดาห์

สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ระบุว่า ดัชนีสารพิษในอากาศของสิงคโปร์ที่เกิดจากหมอกควันพิษจากไฟป่าในอินโดนีเซียเมื่อวานนี้ วัดได้ถึง 371 หน่วย เกินกว่าระดับ 300 หน่วย ซึ่งเป็นระดับอันตรายร้ายแรง โดยระดับมลพิษในอากาศที่เลยระดับอันตรายเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2540 ขณะนั้นอยู่ในระดับ 226 และเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 321 หน่วย ตามมาตรฐาน สิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์กำหนดไว้ว่า หากวัดได้เกิน 200 ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ กับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด และแม้กระทั่งผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติก็จะรู้สึกถึงอาการผิดปกติหากต้องออกกำลังในท่ามกลางสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษ ทางการจึงแนะนำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาการจะกำเริบ ควรอยู่แต่ในที่พัก และคนปกติทั่วไป ไม่ควรออกกำลังในพื้นที่ซึ่งมีหมอกควันพิษปกคลุม ขณะที่ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ผู้สัญจรไป-มาต่างพากัน สวมหน้ากากอนามัยมากกว่าวันก่อนๆ

นักท่องเที่ยวต่างชาติในสิงคโปร์ต่างบ่นไปตามๆ กันถึงสภาพที่เกิดขึ้น หลายคนตัดสินใจเดินทางออกจากสิงคโปร์เร็วกว่ากำหนด ขณะที่ชาวสิงคโปร์ก็แสดงความไม่พอใจ ต่อการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันพิษจากไฟป่า ในอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรบนเกาะสุมาตราเผาป่าเพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป และลมมรสุมได้พัดพาเอาควันพิษเหล่านี้มายังสิงคโปร์ และมาเลเซีย

นายกรัฐมนตรีหลี่ เซียน หลุง ของสิงคโปร์ บอกว่า สภาพอากาศเช่นนี้น่าจะยังดำเนินต่อไปอีกหลายสัปดาห์ จนกว่าสภาพอากาศแห้งแล้งบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย จะเบาบางลง และว่าเขาได้มอบหมายให้นายแอนดรูว์ ตัน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (เอ็นอีเอ) เข้าร่วมการประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับ วิกฤติหมอกควัน ซึ่งจะจัดขึ้นที่กระทรวง การต่างประเทศของอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา ขณะที่นายวิเวียน บาลากฤษนัน รัฐมนตรี สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ต้องการให้อินโดนีเซียดำเนินมาตรการเร่งด่วนและเด็ดขาดในการจัดการกับปัญหาที่ต้นตอ

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 มิถุนายน 2556