ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าในเรื่องการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ โดยผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้อย่างครอบคลุมคนไทยในทุกสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ  มี ผู้ลงทะเบียนจาก 3 กองทุน จำนวนมากกว่าสองแสนราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ประชาชนได้รับการปรึกษาและรับการตรวจวินิจฉัยได้ในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของประเทศพบว่าคนไทยยังเข้าไม่ถึงการรักษาเอชไอวี/เอดส์ เพราะจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ทั้งประเทศราว 500,000 รายนั้นยังไม่เข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 34,782 ราย แต่มารับยาต้านไวรัสเพียง 13,296 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 และส่วนใหญ่คือร้อยละ 61.31 มีอายุระหว่าง 25-39 ปี เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน ทั้งนี้เฉพาะปี 2555 มีจำนวนผู้รับบริการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้น 57,217 ราย ติดเชื้อเอชไอวี 2,152 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.76  ของผู้มารับบริการที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "การติดเชื้อเอชไอวีดังกล่าว นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 1 และคิดว่าน่าเป็นห่วง อย่างยิ่ง เพราะหากเทียบกับจำนวนประชากรที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพมหานครกว่า 7 ล้านเกือบ 8 ล้านคน มี ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีเพียง  57,217 คน และพบว่า ติดเชื้อเอชไอวีถึง 2,152 คน ทั้งนี้ หากประชาชนทราบถึง ประโยชน์ในการเข้ารับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเข้ามารับการตรวจมากขึ้น ก็จะทำให้ทราบถึงสถานะการติดเชื้อได้เร็วขึ้น การรู้ผลเลือดของตัวเองจะทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถวางแผนเรื่องการรักษาของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็จะได้ป้องกันไม่ส่งต่อเชื้อไปยังคู่"

นอกจากนั้น แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงค์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้สะท้อนให้เห็นสถานการณ์เอดส์ของไทยในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในปัจจุบัน ว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 4.5 - 5.5 ล้านคน และยังมีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ ประมาณ 300,000 รายต่อปี เนื่องจาก รู้ผลเลือดช้าและเข้าสู่การรักษาช้า จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจาก ประเทศจีน สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์เอดส์ของไทย ยังคงเป็นปัญหาและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปีละ 9,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ1 คน และร้อยละ 80  ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ขณะนี้ คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมดในประเทศไทยประมาณ 5 แสนราย ที่สำคัญคือ "ประมาณครึ่งหนึ่งยังไม่รู้ตัว"

แม้ว่าไทยจะรณรงค์เรื่องเอดส์โดยมีเป้าหมาย Getting to zero คือลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ให้เป็นศูนย์ ลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ให้เป็นศูนย์ และลดการรังเกียจผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ให้เหลือศูนย์ แต่หากคนไทยยังไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองต่อเรื่อง เอชไอวีได้ หรือยังไม่ทราบผลเลือดของตัวเอง การเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวก็เป็นเรื่องยาก เพราะถ้าไม่รู้ผลเลือดก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มการรักษาได้อย่างไร นอกจากนี้ในเชิงการป้องกัน หากเราไม่รู้ ผลเลือดก็เป็นไปได้ว่าจะยังไม่ให้ความสำคัญต่อการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์

"อยากให้คนไทยเห็นว่าการตรวจเอชไอวี เป็นเรื่องปกติเหมือนตรวจสุขภาพทั่วไป การรู้ผลเลือด เอชไอวีของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราวางแผนตัวเองได้ทั้งในเรื่องการรักษาและการป้องกัน ปัจจุบันมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยและรักษาเอชไอวี/ เอดส์ในประเทศไทยก้าวหน้ามาก มีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตั้งแต่ระดับภูมิคุ้มกัน 350 ทำให้ไม่ต้อง เจ็บป่วย โดยครอบคลุมทั้งคนที่ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ นอกจากนี้หากเราไปตรวจเลือดก็จะได้รับบริการปรึกษาซึ่งบริการดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวเอดส์มากขึ้น และมีทางเลือกในการป้องกันที่เหมาะสม หากเราตรวจแล้วพบว่าไม่ติดเชื้อ เราก็จะมีแนวทางในการป้องกันให้ผลเลือดเราเป็นลบไปตลอด หรือหากตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ ก็จะป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อเพิ่มและไม่ส่งต่อเชื้อไปยังคู่ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ทั้งนี้ คนไทยทุกคนมีสิทธิตรวจเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้งที่ โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งจึงไม่ต้องกังวลเรื่อง ค่าใช้จ่าย" แพทย์หญิงนิตยากล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--