ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“มีมายาคติหรือตรรกะที่ผิดพลาดในวงการสุขภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือความเชื่อที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่สร้างปัญหามาแล้วหลายครั้ง”

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทวิเคราะห์ เหลียวหลังแลหน้า เส้นทางเดินของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ระบุว่า  มีมายาคติหรือตรรกะที่ผิดพลาดในวงการสุขภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือความเชื่อที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่สร้างปัญหามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า ประเทศจะอยู่ไม่ได้หรือแข่งขันไม่ได้ถ้าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มเร็วกว่าหรือสูงกว่ารายได้(GDP) และต่อมาถูกย้ำว่าประเทศอยู่ใน “วิกฤติสุขภาพ” ทำให้จำเป็นต้องปฎิรูป และเมื่อเกิดโครงการ 30 บาทซึ่งเป็นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  แต่เป้าหมายสำคัญกลับอยู่ที่การควบคุมค่าใช้จ่าย   ความเชื่อนี้มีผลกระทบมากตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน และยังมีผลมากในปัจจุบัน โดยการกดค่าหัวของโครงการ 30 บาทให้ต่ำตั้งแต่ต้น นำไปสู่การเพิ่มค่าหัวในอัตราที่สูงขึ้นในปีต่อ ๆ มาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อ โรงพยาบาลติดลบมาก  ปัจจุบันรัฐบาลนี้ก็มีนโยบายแช่แข็งค่าหัวของโครงการ 30 บาท  การเกิดโครงการ P4P ที่พยายามรีดประสิทธิภาพโดยไม่ใช้เงินเพิ่ม

หากต้องการระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนเป็นที่พึ่งพิงที่ประชาชน ฝากชีวิตได้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้เสื่อมถอยไปเป็นแค่โครงการสำหรับคนจนที่ไม่มีทางเลือก การแก้ปัญหาในอนาคตควรมุ่งไปสู่การปรับปรุงคุณภาพให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประชาชนเชื่อมั่น  ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย และบุคลากรต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่วนระบบบริหารหรือการอภิบาลระบบนั้น ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขเป็นระบบที่มีความพยายามปฏิรูปมากที่สุด  แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการสร้างนโยบายที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้จริง ทางออกที่เป็นไปได้อยู่ที่การประนีประนอมและหาทางออกหรือจุดร่วมที่สมเหตุสมผล โดยฝ่ายการเมืองควรเดินออกจากหล่มตรรกวิบัติที่ว่าประเทศจะไปไม่ได้ถ้าไม่แช่แข็งรายจ่ายด้านสุขภาพ แล้วหันไปเน้นการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งจะต้องการทั้งคนและเงินเพิ่มในระยะยาว  ผู้บริหารฝ่ายการเมือง(รมต.)ต้องทำหน้าที่ทำความเข้าใจและต่อรองเรื่องงบกับรัฐบาล ซึ่งถ้ามองการณ์ไกล การรักษาและพัฒนาให้โครงการและระบบบริการมีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือของประชาชนจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมืองเองในระยะยาว 

ระบบจะมีคุณภาพได้ต้องสามารถถ่วงดุลหรือแยกบทบาทของผู้คุมกฎ ผู้ซื้อ และผู้ใช้บริการ  ขณะที่ฝ่ายที่ต้องการปฎิรูปควรให้ความสำคัญกับการปฎิรูประบบ เน้นการพัฒนาระบบที่สามารถเดินไปได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคล และไม่หลงคิดว่าการเดินหน้าชนแบบเดิมหรือแรงขึ้นโดยมีผู้สนับสนุนเพียงบางส่วนจะสามารถทำให้คนที่เหลือมาเห็นด้วยหรือจะทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะอย่างเด็ดขาดนั้น นอกจากทำได้ยากแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียทุนทางสังคมที่พอมีอยู่เปล่าประโยชน์

ที่มา : การเสวนาสาธารณะ เรื่อง  ”คิดใหม่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย” ซึ่งทีดีอาร์ไอจัดขึ้น  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556