ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ‘ดร.วิโรจน์’ ชี้เพิ่มงบกองทุนหลักประกันสุขภาพช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น แนะปรับลดงบบางส่วนมาเพิ่มงบรักษาให้ประชาชน แจงงบที่สามารถทำได้คือ หั่นงบความมั่นคง จ่ายหลักประกันสุขภาพเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาลของประชาชนให้ดีขึ้น รัฐต้องหามาตรการรองรับค่าใช้จ่ายรักษาผู้สูงอายุเพิ่ม

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.เศรษฐกิจอนุมัติเพิ่มงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2559 ว่าการเพิ่มงบประมาณ 4.6% ถือว่าช่วยผ่อนคลายสภาวะตรึงตัวและภาระค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลต่างๆแบกรับอยู่หลังงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ปรับขึ้นมานานกว่า  3-4 ปี

ปัจจุบันงบประมาณที่จัดสรรให้เป็นค่ารักษาพยาบาลที่ สปสช.ดูแลอยู่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในอนาคตรายจ่ายในส่วนนี้มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ทั้งค่าจ้างแรงงาน และค่ายาที่ปรับเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าประชากรในวัยทำงานซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ ที่เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่เสนอให้เก็บภาษีพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งทำได้ยากในทางปฏิบัติ  เช่นเดียวกับการเก็บภาษีประชาชนเพิ่มเติม รัฐบาลส่วนใหญ่ก็จะไม่เลือกวิธีการนี้เพราะการปรับขึ้นภาษีกระทบประชาชนจำนวนมากรัฐบาลหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจที่จะไม่ทำ 

แนะหั่นงบความมั่นคงมาจ่ายเพิ่ม

ทั้งนี้มองว่าวิธีการที่ดีคือการปรับลดงบประมาณรายจ่ายบางส่วน ที่สามารถทำได้คือการปรับลดงบประมาณด้านความมั่นคงที่มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา แล้วนำงบประมาณ ดังกล่าวมาใช้อุดหนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการสุขภาพของประชาชน และเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น

"ตอนนี้แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนแนวคิดที่จะปรับลดสวัสดิการข้าราชการที่ให้วงเงินในการรักษาพ่อ แม่ แล้วให้มารักษาภายใต้กองทุนที่ สปสช.ดูแลอยู่โดยรัฐบาลจะเพิ่มวงเงินในการดูแลผู้สูงอายุให้ ก็ทำได้ยากเพราะข้าราชการก็พิทักษ์ผลประโยชน์ตนเอง บอกว่าตนเองเงินเดือนน้อย กระทบขวัญกำลังใจข้าราชการ การปฏิบัติที่เหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนจึงยังคงมีอยู่" ดร.วิโรจน์กล่าว 

เพิ่มงบสปสช.ช่วยได้ระยะสั้น

นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร แพทย์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอณูพันธุศาสตร์มะเร็งและโรคของมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า การที่เพิ่มเงินต่อหัวลักษณะนี้เป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนเท่านั้น  มีความกังวลว่าหากยังใช้วิธีการในลักษณะนี้ ต่อไปจะเป็นปัญหาเรื่องงบประมาณในอนาคต

นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาแบบนี้ถือว่าถูกต้อง แต่สามารถใช้ได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ควรเพิ่มการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมการให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วย และที่สำคัญต้องทำการศึกษาระบบการจัดการใหม่ เพื่อมาดูว่ามีการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ก็ต้องมีการตัดทิ้งไป เพราะในงบประมาณส่วนนี้ ก็ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์ด้วย "หากไม่แก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมกว่าที่ดำเนินอยู่นั้น โรงพยาบาลที่ขาดทุนก็จะกลับมาใช้วิธีการเดิมๆ คือ การผลักภาระการรักษาพยาบาลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ"

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 เมษายน 2558 เรียบเรียงจากข่าว 1.65 แสนล้านประกันสุขภาพ ครม.เพิ่มเหมาจ่ายรายหัว - 'ทีดีอาร์ไอ' ชี้แก้ปัญหาระยะสั้น