ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายวิรุฬ พรรณเทวี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวตามสถานที่ต่างๆ ประมาณ 75,000 แห่ง กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และมีเมนูให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วนและสามารถหารับประทานได้ง่าย

แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ประกอบการบางส่วนใช้วัตถุดิบที่มีการปนเปื้อนสารอันตรายมาใช้ประกอบอาหาร เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวมีการใช้สารกันเสียชนิดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน ผักมีการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พริกป่นและถั่วลิสงมีเชื้อรา ซึ่งสารพิษดังกล่าวหากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ประกอบกับการใช้อุปกรณ์และภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ไม่มีคุณภาพ/มาตรฐาน

โดยเฉพาะหม้อก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานตัวเชื่อมต่อ หากนำมาใช้ในอุณหภูมิสูงจะมีสารตะกั่วละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อแล้ว และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในการบริโภคก๋วยเตี๋ยวที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย จึงได้ขอความร่วมมือให้ทุกจังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวในหน่วยงานราชการ ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย โรงเรียนและร้านค้าทั่วไป เพื่อจำหน่ายก๋วยเตี๋ยวปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

โดยผู้จำหน่ายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวต้องใช้ภาชนะสำหรับปรุง หรือบรรจุอาหารที่ปลอดสารตะกั่ว มีการล้างทำความสะอาดและจัดเก็บถูกสุขลักษณะ เส้นก๋วยเตี๋ยวต้องทำจากโรงงานที่ผลิตได้มาตรฐาน GMP หรือไม่ใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีคุณภาพและปลอดสารพิษ สถานที่ปรุงหรือจำหน่ายต้องมีสภาพดี สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ปรุงหรือผู้จำหน่ายแต่งกายสะอาด สวมหมวกและผ้ากันเปื้อน มือสะอาด ตัดเล็บสั้น มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคติดต่อ เป็นต้น

ที่มา : http://www.naewna.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง