ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว ว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดของคนไทยลดลง เฉลี่ยหญิงไทย 1 คน มีบุตร 1.5 คน ทำให้ไทยขาดแคลนประชากรวัยทำงาน ต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีทั้งเข้ามาอย่างถูกกฎหมายและลักลอบ มาพร้อมครอบครัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการตามสถานพยาบาลต่างๆ รวมทั้งหากไม่มีระบบการดูแลคนกลุ่มนี้อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เคยควบคุมได้ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โดยผลการตรวจสุขภาพตั้งแต่ปี 2547-2553 พบว่าแรงงานต่างชาติมีโรคแอบแฝงติดตัวมาลดลงจาก 1.25% เหลือเพียง 0.37% โดยโรคที่พบมากที่สุดคือวัณโรค

น.พ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขายบัตรประกันสุขภาพ และตรวจสุขภาพ ให้กับแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะเด็กจะขายในราคาถูกเพียง 365 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 1 บาท แต่จากการขายบัตรประกันสุขภาพรอบแรกในช่วง 15 ม.ค.-14 เม.ย.56 พบว่ามีต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพน้อยมากเพียง 18,413 คน หรือประมาณ 2% เท่านั้น และจะเร่งขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันกระตุ้นเรื่องนี้ เนื่องจากหากต่างด้าวไม่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล อาจเกิดปัญหาการป้องกันควบคุมโรคยากลำบากขึ้น และไม่สามารถวางแผนการคุมกำเนิดของต่างด้าวได้ จากข้อมูลในปี 2547-2552 พบว่ามีต่างด้าวตั้งครรภ์และคลอดบุตรในไทยปีละ 10,000-20,000 คน คาดว่าขณะนี้ไทยมีเด็กไร้สัญชาติราว 400,000-500,000 คน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแบกภาระค่ารักษาของโรงพยาบาลอีกด้วย

ด้าน น.พ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการขายบัตรประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าว จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะมีค่าตรวจร่างกาย ค่าประกันสุขภาพและค่าส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่คุ้มครอง 3 เดือนระหว่างรอสิทธิ์ประกันสังคม 2.กลุ่มนอกระบบประกันสังคม ได้แก่ แรงงานภาคเกษตร ประมง รับใช้ตามบ้านเรือน ครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน จะมีค่าตรวจสุขภาพและต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพ และ 3.เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จะต้องซื้อในราคา 365 บาทต่อปี บัตรประกันสุขภาพนี้จะทำให้ต่างด้าวได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องไม่แตกต่างจากคนไทย ซึ่งโรงพยาบาลในพื้นที่จะมีล่ามช่วยในการสื่อสารกับแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ได้รับบริการอย่างสะดวกและใกล้ที่ทำงาน เมื่อบัตรหมดอายุสามารถซื้อต่อได้อีก และได้รับสิทธิ์ทันที ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมถึงการปรับเพิ่มค่าประกันสุขภาพ เพื่อให้ครอบคลุมยาต้านไวรัสเอดส์ต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทย วันที่ 24 กรกฎาคม 2556