ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ได้ยินข่าวรถทัวร์กรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด ชนกับรถบรรทุก18 ล้อ ระหว่างเส้นทางกลับกรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 20 คนและยังบาดเจ็บอีกกว่า 20 คน ฟังแล้วก็รู้สึกหดหู่ใจเพราะเหมือนหยุดยาวทีไร มีข่าวอุบัติเหตุใหญ่ๆ ทุกที

ตัดภาพไปดูเวทีสากล ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)ระบุว่า ทั่วโลกขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละประมาณ1.24 ล้านคน และ 91% ของอุบัติเหตุร้ายแรงล้วนเกิดในประเทศรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง หากไม่มีใครทำอะไรเลย เชื่อว่าในปี2563 จะมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มเป็นปีละ 1.9 ล้านคน

กลับมาดูที่เวทีอาเซียน ข้อมูลประมาณการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ณ ปี 2553 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า อินโดนีเซียมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีมากที่สุดในอาเซียน ประมาณ 42,434 คน ตามด้วยไทย26,312 คน และเวียดนาม 21,651 คน ส่วนประเทศที่เหลือนั้น สถิติกระโดดลงต่ำไปกว่า 3 ประเทศนี้มาก โดยอันดับสุดท้าย คือ บรูไน27 คน

แต่หากพลิกมุมกลับ ปรับมุมมอง คิดจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรทั้งประเทศทุก 1 แสนคน จะพบว่าไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงสุดในอาเซียนที่ 38.1 คน ตามด้วยมาเลเซีย 25 คน และเวียดนาม24.7 คน ส่วน 3 ประเทศที่เสียชีวิตน้อยที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ 5.1 คนฟิลิปปินส์ 9.1 คน และพม่า 15 คน

ยิ่งนำสถิติอันหลังไปเทียบในระดับโลก กล่าวได้ว่า ไทยของเราติดท็อปเทนแบบ "นอนมา"

เพราะแม้กระทั่งจีนและอินเดียที่มีประชากรมากระดับพันล้านคน ยังมีอัตราการเสียชีวิตต่อแสนคนที่ 20.5 และ 18.9 คน ตามลำดับ

หากไปเปิดแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน(เอเอสซีซี บลูปรินต์) จะพบว่าอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือในด้านการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยตรง มีเพียงแผนความร่วมมือในการสร้างรัฐที่พร้อมรับกับภัยพิบัติและสร้างประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

จึงกลายเป็นคำถามว่า เมื่อสถิติหลายประเทศยังออกมาเช่นนี้อาเซียนควรเร่งสร้างความร่วมมือด้านการจัดการอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือยัง?

องค์การอนามัยโลกวิเคราะห์สาเหตุทั่วไปของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า มาจากเรื่องการขับขี่เร็วการเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกกันน็อกไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การแชตไปขับไป แนวทางแก้พื้นฐานก็คือ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเลิกพฤติกรรมทุกอย่างข้างต้น และจัดโซนนิงใช้กฎหมายอย่างชัดเจน เช่น ห้ามขับเกิน 30 กิโลเมตร ในบริเวณใกล้โรงเรียน

แต่หากพิจารณาในบริบทของอาเซียน ผมคิดว่าอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจัดการ คือ คุณภาพชีวิตและทักษะของอาชีพ "คนขับรถ" ไม่ว่าจะรถทัวร์รถบรรทุก เพราะคนกลุ่มนี้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี จนเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน แรงงานที่เหลืออยู่ก็ทำงานหนัก รายการคนขับหลับในจึงมีให้เห็นเป็นประจำ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อาเซียนต้องเร่งทำ ควบคู่กับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์

หากไม่ทำอะไรอย่างจริงจัง สถิติเสียชีวิตบนท้องถนนของโลกที่เพิ่มจาก 1.24 ล้านคน เป็น 1.9 ล้านคน อาจมาเพิ่มแถวๆ อาเซียนเป็นหลักก็ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556