ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โดยที่มนุษย์ทุกคนล้วนไม่พ้นต้อง เกิด แก่เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พระพุทธศาสนาจึงนอกจากสอนเรื่องการบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อการ"พ้นทุกข์" แล้ว ยังได้มีการพัฒนาเรื่องการเยียวยารักษาโรคทางกายขึ้นในพุทธอารามตั้งแต่ครั้งพุทธกาล วัตถุประสงค์นอกจากเพื่อการดูแลช่วยเหลือพระสงฆ์ด้วยกันเองแล้ว ยังขยายการดูแลแก่ประชาชนทั่วไปทั้งที่หันเข้ามารับนับถือพุทธศาสนาแล้ว และที่ยังเป็นศาสนิกต่างศาสนา การแพทย์ในพุทธอารามจึงเป็น "เครื่องมือ"อย่างหนึ่งในการสร้างศรัทธาแก่ประชาชนด้วย เมื่อรัฐไทยรับพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศ ก็รับเอาการแพทย์ในวัดวาอารามเข้ามาด้วย

ในส่วนของ "อาณาจักร" การแพทย์และการเยียวยารักษาก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างศรัทธาให้แก่ผู้ปกครอง ดังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรขอม ก็ได้สร้าง"อโรคยศาล" ขึ้นไว้ถึง 102 แห่ง โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย คือ โรงพยาบาลศิริราชก็เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณตามหลักทศพิธราชธรรมของพระปิยมหาราชเจ้าที่ทรงสูญเสียพระราชโอรส คือ เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์เมื่อพระชนมายุยังน้อยเพียง 1 ปี 8 เดือน ที่สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิด ทรงเห็นความทุกข์ทรมานของพระโอรสและทรงบังเกิดความเวทนาแก่ราษฎรว่า "แต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้เวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้รับความลำบากทุกขเวทนายิ่งกว่านี้ประการใด"ทำให้ทรงมั่นพระทัยในการสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้น เมื่อพ.ศ. 2429 และเปิดบริการแก่ราษฎรเมื่อพ.ศ. 2431

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เห็นว่าการแพทย์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างความนิยมให้แก่ราษฎร จึงตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นเมื่อพ.ศ. 2485 มีการตั้งโรงพยาบาลหญิง เพื่อพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นโยบายสำคัญประการหนึ่งของจอมพล ป. คือการสร้างโรงพยาบาลขึ้น โดยเริ่มจากตามชายแดนเพื่อ"อวดธง" ให้ประชาชนบนผืนแผ่นดินไทยยังคงเลื่อมใสศรัทธาในรัฐไทย ไม่ไปนิยมยินดีกับบริการของประเทศข้างเคียงที่เป็นอาณานิคมของต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เพราะเหตุความจำกัดของงบประมาณ แม้มีโรงพยาบาลเกิดขึ้นจนครบทุกจังหวัด แต่บริการที่จัดให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนก็ยังมีคุณภาพต่ำ ประชาชนที่ไปรับบริการจำนวนมากมีสภาพเป็นเพียง "คนไข้อนาถา" เท่านั้น

จนกระทั่งสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช ซึ่งเป็นช่วงที่อิทธิพลตะวันตกในอินโดจีนกำลังล่มสลาย ทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ล้วนตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ประเทศไทยก็กำลังล่อแหลมที่จะพ่ายแพ้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีโดมิโนของนายจอห์นฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐสมัยนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงดำเนินนโยบายช่วงชิงประชาชนโดยโครงการ "เงินผันประกันราคาพืชผล คนยากคนจนรักษาฟรี ขึ้นรถเมล์ฟรี" อันลือลั่น พร้อมกับประกาศโครงการสร้างโรงพยาบาลอำเภอขึ้นทุกอำเภอทั่วประเทศ การแพทย์และการสาธารณสุขจึงเป็นนโยบายสำคัญทางการเมืองในขณะนั้น มีการจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ให้ตามนโยบายนี้อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ก็ยังยึดหลักการของ "การสงเคราะห์" ใน "โครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในด้านการรักษาพยาบาล"

ช่วงก่อนหน้านั้นเล็กน้อย แนวคิดในการรักษาคนยากไร้ ได้เข้าไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 ที่บัญญัติว่า "รัฐต้องจัดบริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า"

นโยบาย "รักษาฟรี" นี้นับว่า "โดนใจ"ประชาชน ทำให้รัฐบาลต่อมาทุกชุดมีแต่ขยายโครงการนี้โดยเพิ่มงบประมาณ และขยายกลุ่มเป้าหมายจากคน "ยากไร้" ไปเป็น "คนยากจน" และกลุ่มคน "ที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูล"อื่นๆเช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ในฝ่ายราชการประจำก็พยายามขยายการครอบคลุมโดยโครงการ "บัตรสุขภาพ" ซึ่งนอกจากเพื่อให้ประชาชนมี "หลักประกัน" การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยแล้วยังเป็นความพยายามเปลี่ยนแนวคิดจาก "การสงเคราะห์โดยรัฐ" ไปเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนร่วมลงทุน "สร้างหลักประกันสุขภาพ" ด้วย แต่เพราะ "ช่องว่าง"รายได้ของประชาชนยังสูงมาก บริการที่จัดให้ในโครงการบัตรสุขภาพก็ยังไม่ทำให้ผู้ซื้อบัตรสุขภาพรู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากประชาชนที่ได้รับบริการจากการสงเคราะห์ รวมทั้งยังมีข้อจำกัดการให้บริการ และต้องตัดสินใจซื้อ "บัตรสุขภาพ" แบบปีต่อปี โครงการดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะนั้นประเทศไทยมี "ระบบหลักประกันสุขภาพ" แล้ว ได้แก่ 1) สวัสดิการข้าราชการ2) ประกันสังคม 3) โครงการรักษาพยาบาลประชาชนที่ควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล ส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม นับว่ายังเหลือไม่มากนักปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณานอกจากการครอบคลุมให้ทั่วถึงแล้ว คือ จะจัดระบบบริการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ ทั้ง 3 ประการคือ จะต้องให้เกิด 1) ความเป็นธรรม 2)คุณภาพ และ 3) ประสิทธิภาพ ดังนั้น หลังจากวางระบบบริการทางการแพทย์ของประกันสังคมด้วยระบบ "เหมาจ่ายรายหัว" จนมีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อเทียบกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแล้ว นายแพทย์สงวนนิตยารัมภ์พงศ์ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องจนมีองค์ความรู้ชัดเจนพอสมควรว่าควรจะ "เดินหน้า" ต่อไปอย่างไร

ฉะนั้น เมื่อสามารถผลักดันจนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจ "ซื้อ" ความคิดเรื่องการขยายการครอบคลุมหลักประกันสุขภาพ"ถ้วนหน้า" ได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องเกิดขึ้น คือต้องแยกระบบการบริหารจัดการกองทุนออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข ด้วยหลักการดังกล่าวนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงถือกำเนิดขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556