ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นอกจากกรณีการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล 148 ตัน การจัดซื้อยาหัวใจโคลพิโดเกรล การจัดซื้อวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรงงานยาเอดส์ และโรงงานแมสโปรดักชั่นแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.)ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2556 คือ "การจัดซื้อเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา" ซึ่งได้มอบหมายให้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะบอร์ด อภ.รับไปดูแล

ความเป็นมาของเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจาก อภ.มีนโยบายที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะขยายการบริการให้แก่ลูกค้า จึงได้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องมือแพทย์

อภ.ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและรับผิดชอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์" ขึ้น โดยมี นาง ซ. (ขอ สงวนชื่อจริง) เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำรายละเอียดของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์และคัดเลือกบริษัทตัวแทนจำหน่าย

คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและรับผิดชอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ประชุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2551 มีมติเห็นชอบให้นำเสนอขออนุมัติจัดซื้อ "เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาแบบไม่ต้องขยายม่านตา" ยี่ห้อหนึ่ง รุ่นที่ 1 (ขอสงวนยี่ห้อและชื่อรุ่น) ด้วยวิธีพิเศษ จากบริษัท ซี. (ขอสงวนชื่อจริง) จำนวน 4 เครื่องในราคาเครื่องละ 7.5 แสนบาท มีเงื่อนไขว่า หาก อภ.ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดังกล่าวได้ภายใน 6 เดือน บริษัทยินดีซื้อคืนในราคา 8 แสนบาทให้กำไร 6.25% และมีการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2551

ต่อมา วันที่ 18 ธ.ค. 2551  บริษัท ซี.(ขอสงวนชื่อจริง) มีหนังสือแสดงเจตนายินดีรับฝากสินค้าที่ซื้อขายกับ อภ. เพื่อประโยชน์ของการจัดเก็บไม่ให้เกิดความชื้นที่อาจเกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเอกสารฉบับนี้ นาย ป. (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ได้นำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัตินำฝาก ต่อมาภายหลังปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวไม่ได้ถูกนำเสนอผู้มีอำนาจ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาก็ได้รับการนำฝากไว้กับบริษัท

เมื่อ วันที่ 13 ม.ค. 2552 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและรับผิดชอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ประชุมแล้วพิจารณาเห็นว่า ขณะนี้มีลูกค้าซื้อเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาแล้ว 1 เครื่อง และยังมีลูกค้าจะสั่งเข้ามาอีกหลายเครื่อง ทำให้ไม่มีเครื่องรุ่นเก่าขายให้ลูกค้า หากมีการสั่งจะต้องผลิตใหม่และมีราคาแพง ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ออกเครื่องรุ่นใหม่ คือ รุ่นที่ 2 (ขอสงวนชื่อรุ่น) ขายพร้อมเครื่องวัดความดันลูกตา หากซื้อ 5 เครื่อง จะได้ราคาพิเศษ คือ ชุดละ 1 ล้านบาท และจะขายให้ลูกค้าในราคาชุดละ 1.2 ล้านบาท ที่ประชุมมีมติขายคืนเครื่องรุ่นเก่า (รุ่นที่ 1 ) 3 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 8 แสนบาท และซื้อเครื่องรุ่นใหม่พร้อมเครื่องวัดความดันลูกตา 5 เครื่อง ราคาชุดละ 1 ล้านบาท รวมแล้ว อภ.ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 2.6 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2552 มีเงื่อนไขว่า หาก อภ.ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายใน 6 เดือน บริษัทยินดีรับซื้อคืนในราคาเครื่องละ 1,062,500 บาท โดยสินค้าทั้งหมดฝากไว้ที่บริษัท ซี. (ขอสงวนชื่อจริง)

อภ.จำหน่ายเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา ดังนี้ 1. เสนอขายให้ สสจ.นครศรีธรรมราช 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 905,607.48 บาท รวมเป็นเงิน 1,811,214.96 บาท 2.เสนอขาย ให้ รพ.ทุ่งสง พร้อมเครื่องวัดความดัน ลูกตา 1 ชุด เป็นเงิน 1,096,261.70 บาท แต่ อภ.ไม่สามารถจำหน่ายให้ลูกค้าได้โดยตรง เนื่องจากไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจึงต้องขายคืนให้กับบริษัทไปขายต่อ โดยบริษัทต้องชำระเงินให้ อภ. 2,907,476.66 บาท 3. จำหน่ายให้สโมสรโรตารี่ 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 8.5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1.7 ล้านบาท

สรุปแล้ว อภ.มีสินค้าคงค้างกับบริษัท คือ 1.เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตารุ่นที่ 1 จำนวน 1 เครื่อง ราคาเครื่องละ 7.5 แสนบาท 2.เครื่องวัดความดันลูกตา 4 เครื่อง ราคาเครื่องละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 8 แสนบาท

อภ.จัดทำโครงการตรวจเช็กจอประสาทตาให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยซื้อเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาจากบริษัท 2 เครื่อง เป็นเงิน 1,386,915.89 บาท ซึ่งได้หักเงินจากบริษัทที่ต้องชำระให้ อภ. 2,907,476.66 บาท คงเหลือเงินที่บริษัทต้องชำระให้แก่ อภ. 1,520,560.77 บาท

ต่อมา อภ.ได้ตรวจสอบทรัพย์สินที่บริษัทพบว่า มีเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตารุ่นที่ 1 แต่อุปกรณ์ไม่ครบ ส่วนเครื่องวัดความดันลูกตา 4 เครื่องหายไป อภ.จึงได้นำเอาเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตากลับมา

ทาง อภ.ได้ทวงถามหลายครั้งแต่ไม่ ได้รับเงิน จึงดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี กับบริษัทฐานยักยอกทรัพย์ โดยมีอุปกรณ์ประกอบเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา และเครื่องวัดความดันลูกตา 4 เครื่อง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในชั้นศาล โดยบริษัทได้ส่งคืนอุปกรณ์ประกอบเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาเรียบร้อยแล้ว ส่วนเครื่องวัดความดันลูกตา บริษัทจะชำระคืนเป็นเงิน ซึ่งปัจจุบันชำระมาแล้ว 1.7 แสนบาท คงค้างอีก 6.3 แสนบาท ซึ่งทางบริษัทจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 ก.ย. 2556 ในส่วนของหนี้สินอีก 1,520,560.77 บาท บริษัทได้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ไว้และจะชดใช้ให้ต่อไป

 อภ.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งที่ อภ.(4) 031/2554 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยได้รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง ต่อ ผอ. เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2555 มีข้อเสนอดังนี้ 1. เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย 3 คน คือ นาย ป. นาง ป. และ นาง ว. (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) กรณีนำเสนอขออนุมัติหนังสือนำฝากเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา โดยไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับรองรับ อีกทั้งไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการฝากทรัพย์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อบังคับ อภ. ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2551 ข้อ 93 (2) พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่การงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง อภ. โดยไม่ให้เสียหายแก่ อภ. 2. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้รับผิดทางละเมิด กรณีเกิดความเสียหายขึ้นภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายถึงที่สุดแล้ว ไม่สามารถติดตามทรัพย์คืนได้ 3. กรณี อภ.จัดซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทผู้จำหน่าย และหากมีความจำเป็นต้องนำฝากผลิตภัณฑ์กับบริษัทผู้จำหน่ายไว้ก่อน ซึ่งไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้กระทำได้ จึงควรกำหนดวิธีปฏิบัติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำหนังสือขออนุมัติ โดยนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อเสนอพิจารณาอนุมัติ แต่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่ได้มีการสั่งการแต่อย่างใด

เรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึง อภ.ขอเอกสารหลักฐานเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีการกล่าวหาว่าอาจเข้าข่ายฐานความผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เรื่อง การจัดซื้อเครื่องตรวจจอประสาทตา โดยไม่มีการประกวด ราคา เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท และจัด ทำโครงการซีเอสอาร์ตรวจตาให้กับผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจของ อภ.

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา กล่าวว่า คณะกรรมการชุดผมมีหน้าที่ไปดูข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการเสนอความเห็นมาแล้ว อีกทั้งมีเรื่องอยู่ในชั้นศาล และมีการร้องไปยัง ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ขอเอกสารไปแล้ว กำลังสอบสวนอยู่ ดังนั้นคงต้องรอผลการตัดสินของศาล และ ป.ป.ช. คงไม่ต้องไปตรวจสอบซ้ำอีก

ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--