ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” หรือ “เมดิคัล ฮับ” ถูกจุดพลุขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามารับการรักษาพยาบาล เป็นการเพิ่มพูนรายได้เงินตราต่างประเทศให้กับประเทศไทย

ขณะเดียวกันก็เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการด้านสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยด้วยนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคควบคู่กันไปด้วย

ภายใต้ดังกล่าว รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็น “เจ้าภาพหลัก” ในการจัดทำยุทธศาสตร์นี้ต่อเนื่องต่อไปอีก โดยให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แบกรับภารกิจใหญ่นี้

หลังจากที่ “เมดิคัล ฮับ” ในเฟสแรกเติบโตขึ้นอย่างเงียบๆตลอดช่วง 10 ปี และทำรายได้ให้กับประเทศไทยในปีล่าสุด (พ.ศ. 2555) สูงถึง 140,000 ล้านบาท

เปิดยุทธศาสตร์ “เมดิคัล ฮับ”

นพ.ประดิษฐเริ่มต้นบทสนทนากับทีมเศรษฐกิจถึง “ศักยภาพ” ประเทศไทยที่จะก้าวสู่ความเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” อีกขั้นว่า โดยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีอยู่ สามารถเป็น “เมดิคัล ฮับ” ได้ไม่ยาก

เรามีทุนเดิมที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ทั้งมาตรฐานบริการระดับ นานาชาติ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีขั้นสูงที่ทันสมัย ระดับราคาที่เหมาะสม และนอกจากนั้น ประเทศไทยเองมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามที่ชวนให้ต่างชาติเข้ามาพักผ่อน พักฟื้น และเอื้อต่อการรักษาสุขภาพ

“สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำทางการแพทย์ได้อย่างแน่นอน”

ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ “เมดิคัล ฮับ” ระยะ 5 ปี รวม 2 ฉบับ บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) โดยมีเจตนารมณ์หลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการ

“ยุทธศาสตร์ฉบับแรก เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย” ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547-2551 เน้นธุรกิจบริการหลัก 3 ด้านคือ 1.การรักษาพยาบาล 2.การส่งเสริมสุขภาพ และ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสมุนไพรไทย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ของธุรกิจบริการด้านสุขภาพก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง”

ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับโลกด้านการจัดบริการสุขภาพภายใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2557-2561 ซึ่งกำหนดจะให้มีบริการหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ อาทิ จัดบริการสปาเพื่อสุขภาพ, บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ การจัดบริการแบบพำนักระยะยาวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น 2.เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพ อาทิ การจัดบริการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูก ศัลยกรรมตกแต่ง เป็นต้น

3. ศูนย์กลางบริการทางวิชาการและงานวิจัย ประกอบด้วย การจัดการศึกษาระดับปริญญา และแพทย์ทางเลือก, การพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ และการจัดการศึกษาระดับแรงงานฝีมือ อันเป็นการเตรียมตัวในการผลิตบุคลากรมาให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพประมูลงานประชุมทางวิชาการของความก้าวหน้าทางการแพทย์นานาชาติ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์

และ 4.เป็นศูนย์กลางของการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย ยาแผนปัจจุบัน, ยาแผนโบราณ และวัตถุดิบสมุนไพรไทย, เครื่องสำอาง, การผลิตอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ, เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์, การผลิตวัคซีน และการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพแบบสำเร็จรูป เป็นต้นคลี่แผนปฏิบัติการปั้น “เมดิคัล ฮับ”

“ในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เมดิคัล ฮับ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นจากโรงพยาบาลเอกชนเอง ทำให้รู้ว่าเอกชนอยากได้อะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจที่ตรงกัน ช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ที่จะเดินไปพร้อมกันได้”

กระทรวงสาธารณสุขยังมีแนวคิดที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในด้านวิชาการด้วยการเปิด “คลับทางวิชาการ” เพื่อตอกย้ำความน่าเชื่อถือว่า ประเทศไทยเก่งจริงๆในด้านใดบ้าง เช่น เชี่ยวชาญการผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดกระดูก ศัลยกรรมพลาสติก แปลงเพศ การเสริมความงาม ปลูกถ่ายอวัยวะ สูตินรีแพทย์ และการผ่าตัดเปลี่ยนไต เป็นต้น ความเชี่ยวชาญเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ต่างชาติเดินทางมารักษาในไทยได้ง่ายขึ้น และนี่เป็นจุดเด่นที่ทำให้เราจะทำโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

“เดือนหน้านับจากนี้ เราจะออกฉายโฆษณาที่มีเนื้อหานำเสนอให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ไปถึงขั้นไหนแล้ว โดยเฉพาะการผ่าตัดหัวใจในขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่ ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่ทำได้”

กลยุทธ์ที่รัฐบาลคิดไว้คือ การโฆษณาที่ตัวมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐที่มีชื่อเสียง ถือเป็นการโปรโมตไปอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะต้องไปปรึกษากันก่อนว่า แต่ละมหาวิทยาลัยแพทย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงในด้านใด เพราะมหาวิทยาลัยแพทย์ในประเทศไทยมีเกือบ 20 แห่ง จึงต้องแบ่งกันให้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยใดเก่งด้านไหน และเน้นผลิตแพทย์ด้านใด เพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ “เมดิคัล ฮับ” ของโลก เพื่อดึงดูดใจให้ต่างชาติเข้ามารักษา หรือส่งคนของเขามาเรียนแพทย์ที่ประเทศไทย เพราะเห็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของมหาวิทยาลัยแพทย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ราชวิถี เลิดสิน พระมงกุฎ หรือแม้แต่ เชียงใหม่ และขอนแก่น

“จริงๆเราอยากจะบอกด้วยซ้ำว่า หมอไทยเป็นคนสอนหมอสิงคโปร์ เป็นอาจารย์หมอของเขา เพราะฉะนั้น เราต้องเก่งกว่าแน่นอน ไม่ว่าเขาจะโฆษณาอย่างไร”

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังจะทำคลอดหลักเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยังไม่เคยมีการนำเข้ามาในประเทศเพื่อสนับสนุนการที่ประเทศไทยจะเป็น “เมดิคัล ฮับ” ของโลกด้วย

โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการผ่อนผันการนำเข้า เพราะยาบางตัวหรือเครื่องมือแพทย์บางชนิดมีความจำเป็นต้องใช้กับคนไข้ที่เข้ารับการรักษา โดยสามารถขอเป็นรายๆไป อีกกรณีคือ เครื่องมือแพทย์ที่มีการผลิตในต่างประเทศ และมีหนังสือรับรอง หรือมีข้อมูลสนับสนุนสรรพคุณ บ่งชี้ถึงความปลอดภัย ทาง อย.ก็สามารถออกหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าได้ภายในเวลา 1-5 วัน ขึ้นอยู่กับจำนวนของเครื่องมือ

ทั้งหมดคือยุทธศาสตร์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และหากพิจารณาตัวเลขตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาขอรับบริการด้านสุขภาพในไทย ณ สิ้นปี 2555 นั้น มีมูลค่ารวมกว่า 140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 54 ถึง 18%

ขณะที่ตัวเลขในช่วง 6 เดือนแรกของปี 56 ยอดชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยแล้วใช้บริการโรงพยาบาลพุ่งขึ้นมาถึง 1.4 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ ผู้ที่ตั้งใจเดินทางมาเพื่อรับการรักษาประมาณ 30%, กลุ่มที่ 2 เป็นพวกที่เดินทางเข้าออกและติดต่อเรื่องงานหรือธุรกิจไปด้วยแล้วเข้ารับการรักษา 40% และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาลไปเลย 30% เพราะเห็นว่าค่ารักษาไม่แพงจึงตัดสินใจทำ เช่น ทำฟัน ฝังรากฟันเทียมรวมพลังสร้างศูนย์กลางประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเมดิคัล ฮับ ไม่ใช่จะพึ่งแค่ยุทธศาสตร์แล้วนำไปปฏิบัติอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล เอกชน มหาวิทยาลัยแพทย์ โรงพยาบาล และหน่วยงานที่ควบคุมดูแลแพทย์อย่างแพทยสภาเพื่อปรึกษาหารือกัน

“การจะทำให้ประเทศไทยเป็น “เมดิคัล ฮับ” ได้อย่างสมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพนั้น เราควรรู้ว่าแต่ละภาคส่วนต้องการอะไรกันบ้าง กระนั้นก็ตาม ก็ต้องเตรียมการด้านบุคลากรและงบประมาณเพื่อการนี้ให้ดีด้วย”

ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบริหารและการขับเคลื่อนนโยบายจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศ ทำให้ต้องมาสรุปเป็นข้อกำหนดในหลักเกณฑ์ต่างๆ

เริ่มตั้งแต่ “การกำหนดผู้เล่น” คือ การคัดสรรโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คงจะต้องเป็นโรงพยาบาลเอกชนอย่างเดียว เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมในหลายๆด้าน

“ขณะนี้บางโรงพยาบาลได้มีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว อาทิ การนำมาตรฐานนานาชาติมาใช้ การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีมาตรการจูงใจแพทย์ไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศให้กลับมารักษายังประเทศไทย การออกแบบก่อสร้างสถานพยาบาลให้ทันสมัย มีบริการล่ามหลากหลายภาษาไว้คอยรับรองคนไข้ต่างชาติ”

นพ.ประดิษฐเล่าให้ฟังด้วยว่า การเดินหน้าเป็น “เมดิคัล ฮับ” ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนหลายด้าน อาทิ การทำการตลาดที่มีความหลากหลาย การทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อนานาชาติ การทำสัญญารักษาพยาบาลให้กับองค์กรในต่างประเทศ และการโรดโชว์ในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมเพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย...

1. ด้านการส่งเสริมผู้ใช้บริการ รัฐบาลควรสนับสนุนโดยจัดทำงบประมาณเฉพาะเพื่อส่งเสริมกิจการให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ เช่น สนับสนุนการสร้างและจัดทำโฆษณารณรงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์, สนับสนุนงบประมาณโครงการรักษาพยาบาลฟรีทั่วโลก สำหรับการรักษาบางอย่าง เป็นต้น

2.รัฐบาลและบริษัทท่าอากาศยานไทยควรจัดทำนิทรรศการถาวรด้านการส่งเสริมและรักษาพยาบาล 3.ควรมีการส่งเสริมประกันสุขภาพไทยไปทั่วโลก 4.เจรจากับประเทศพัฒนา หรือเชิญมาดูงานที่ประเทศไทย เป็นต้น

5.ให้รัฐแก้ไขอุปสรรคของวีซ่าและการพำนัก โดยอาจมีการออกวีซ่าเพื่อการรักษาที่ให้เวลาพำนักนานถึง 90 วัน และต่อเวลาได้ ยกเลิกการขอวีซ่าเพื่อการรักษาสำหรับในบางประเทศ การต่อเวลาพำนักสำหรับผู้ป่วยให้สามารถต่อผ่านทางออนไลน์ได้ รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้เพิ่มตัวเลือก “มารับการรักษาพยาบาล” ในบัตรตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า ซึ่งจะมีประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำให้กับภาครัฐที่จะกำหนดแผนต่างๆในอนาคตได้

แก้ไขปัญหาแพทย์-บุคลากรขาดแคลน

สำหรับประเด็นข้อห่วงใยของหลายฝ่ายที่มีต่อนโยบาย “เมดิคัล ฮับ” ที่มองว่าอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการแย่งตัวบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความไม่สะดวกและขาดแคลนในระบบรักษาสุขภาพทั่วหน้าและการรักษาพยาบาลในประเทศนั้น

นพ.ประดิษฐกล่าวกับ ทีมเศรษฐกิจ อีกว่า เรื่องนี้ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตแพทย์และพยาบาลให้มากขึ้น ทั้งจากฝั่งภาครัฐและเอกชน โดยในกรณีที่เอกชนเป็นผู้ผลิตแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้น รัฐบาลควรอุดหนุนงบประมาณโดยไม่เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้แพทยสภาและสถาบันฝึกอบรมแพทย์อนุญาตให้เอกชนเป็นต้น สังกัดในการส่งแพทย์เข้าเรียนสาขาเฉพาะทางได้อย่างทัดเทียมโรงพยาบาลรัฐ และควรอนุญาตให้มีการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนแพทย์ในหลักสูตรนานาชาติของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนได้ รวมทั้งเสนอให้แพทยสภาควรอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติสามารถเข้ามาให้บริการในโรงพยาบาลเอกชนได้ โดยอาจทำเป็นมาตรการระยะสั้น

“ในขณะนี้เรามีแพทย์ประมาณ 40,000 คน โดยที่ผ่านมาผลิตได้ปีละ 1,000 คน โดยเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 2,800-3,000 คนต่อปี และคาดถ้าเป็นไปตามแผน 10 ปีเราจะมีจำนวนแพทย์เพียงพอต่อประชาชน เช่นเดียวกับพยาบาลที่จะต้องเร่งผลิตเพิ่มอีกประมาณ 7,500 คนต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ”

เรายังขอให้มีการส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ให้บริการรักษาพยาบาลจากบีโอไอสำหรับโรงพยาบาลใหม่และโรงพยาบาลเก่าที่ต้องการขยายบริการ โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุด, ส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชน และส่งเสริมการร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน เช่น การผลิตแพทย์ร่วมกัน หรือการใช้เครื่องมือราคาสูงร่วมกัน เป็นต้นด้วย

ทั้งหมดนี้คือนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ รมว.สาธารณสุขดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโรงพยาบาลรัฐ เอกชน แพทยสภา และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างสมบูรณ์.ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา: สพ.ไทยรัฐ วันที่ 5 สิงหาคม 2556