ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกรัฐมนตรี ประกาศเชิญทุกกลุ่มทุกขั้ว เข้ามาร่วมเพื่อปฏิรูปการเมืองโดยมองว่าเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ที่ยืดเยื้อมายาวนาน ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องและที่ผ่านมาในหลายรัฐบาล ก็พยายามที่จะดำเนินการ เพื่อให้เกิดรูปธรรมและมีการดำเนินการอย่างจริงจัง แต่เมื่อผลยังไม่เกิดขึ้นและมีแนวโน้ม จะรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลในฐานะที่ต้องดูแลประชาชนทุกภาคส่วนก็ย่อมต้องหาทางออก แต่ที่น่าห่วงมากกว่าสิ่งที่เรากำลังกังวลอยู่คือปัญหาในเชิงโครงสร้างของประเทศ ที่มีมากกว่าประเด็นการเมือง เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มักวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหา เฉพาะหน้าระยะสั้น จนละเลย "ราก" ของประเทศ เพราะสิ่งที่นักการเมืองสนใจคือ ผลทางการเมือง จึงมิได้เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของประเทศเสมอไป ดังนั้นงบประมาณ ทรัพยากรต่างๆ จึงทุ่มในโครงการและนโยบายระยะสั้น ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาในระยะยาวที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในระยะสั้น ที่สังคมวนเวียน วุ่นวายถกเถียงอยู่ในวันนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน โอกาสด้านการศึกษา ปัญหาขาดแคลนแรงงาน วินัยการเงินการคลัง เศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป และปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ ล้วนเป็นวาระสำคัญของชาติที่สมควรหาทางออกมากกว่า เพราะสภาปฏิรูปการเมือง ที่นายกรัฐมนตรี กำลังชูเป็นประเด็นถกเถียงและหาทางออกนั้นนอกจากจะเสียเวลากับสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงแล้ว อาจจะยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกมากขึ้นกว่าที่เผชิญอยู่ก็เป็นได้

ยกตัวอย่างแค่ เรื่องปัญหาของสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ซึ่งไทย เข้าสู่กับดักนี้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2553 นั้นหมายความว่าไทยเป็นประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีสัดส่วนเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นในอัตราที่มากและเร็วขึ้น  โดยคาดว่าในปี 2573 ประชากรที่มีอายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 25% นั้นหมายความว่าคนไทยทุก 4 คนจะมีคนแก่ 1 คน เหตุผลสำคัญเพราะอัตราการเกิดลดลง จากจำนวนบุตร 4.9 คน ต่อสตรี 1 คน ในปี 2517-2519 ลดเหลือเพียงบุตร 1.5 คน ต่อสตรี 1 คน ในปี 2548-2549 ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะการเข้าถึงสาธารณสุขมากขึ้น และระบบสวัสดิการที่ดี สะท้อนผ่านตัวเลขการเข้าถึงสวัสดิการ รักษาพยาบาล แต่อีกด้านที่น่าวิตกคือภาระของรัฐ ที่มากขึ้นหากไม่มีการวางแผนและวางกรอบกติกาตั้งแต่วันนี้ มีโอกาสเผชิญความเสี่ยงการคลังในอนาคต จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้รัฐบาลไม่สามารถหาช่องว่างทางการคลัง หรือ fiscal space ใหม่ๆ

ในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนองานวิจัยความเสี่ยงการคลัง จากสังคมผู้สูงอายุ ณัฐพล ศรีพจนารถ หนึ่งในนักวิจัย เตือนว่าภาระทางการคลังด้านสวัสดิการจะมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีอัตราการขยายตัว เฉลี่ย 7.7% ต่อปีในช่วง 50 ปีข้างหน้าโดยในส่วนของสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 232,704 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 เป็น 2,151,010 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2606 โดยรัฐบาลควรดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลและเจรจาต่อรองการซื้อบริการจากสถานพยาบาล และการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคมเพื่อลดภาระของกองทุน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และภาระงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาระทางการคลังขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมากในอนาคต โดยจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 291,022 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความเสี่ยงจากการประสบปัญหาทางการเงินของกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพที่ คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2595 ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการของ กองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มอายุเกษียณ และการส่งเสริมการออมเงินเพื่อการชราภาพของประชาชน

จะเห็นว่าแค่ตัวอย่างเดียวปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ย้อนกลับไปดูนโยบายหรือการใส่ใจของรัฐบาล จะเห็นว่าน้อยมาก ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงการคลังได้พัฒนาการ ยืนอยู่หน้าผาเรียบร้อยแล้ว และนอกจากนั้นปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ยังโยงใยกระทบกับภาคการผลิต ในระบบอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานตามมาอีกมากมาย ตรงนี้มากกว่าที่ระดับผู้นำประเทศ หันมาให้ความใส่ใจ ยิ่งรัฐบาลมีความจริงใจและตระหนักให้ประชาชนเห็นว่าใส่ใจกับโครงสร้างใหญ่ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง ย่อมที่จะได้รับแรงหนุนหลังจากประชาชน เมื่อฐานรัฐบาลที่มั่นคงแล้ว ย่อมที่จะดำเนินการเรื่องยากได้ง่ายขึ้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง