ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ผนึกองค์กรสุขภาพทั่วประเทศ พัฒนาเครื่องมือคัดกรองและประเมินเด็กปฐมวัยพัฒนาการผิดปกติ เตรียมผลักดันให้ทุกองค์กรในสังกัดใช้ เร่งแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็ก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยที่มีแนวโน้มลดต่ำลง เชื่อว่าหากได้มีตรวจคัดกรองเด็กทุกคนตามช่วงอายุที่กำหนด และมีระบบส่งต่อเพื่อรับการกระตุ้นและแก้ไข เมื่อพบเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการผิดปกติ จะช่วยลดจำนวนเด็กที่มีพัฒนาการผิดปกติได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบ จึงร่วมกันพัฒนาเครื่องมือกลางที่ง่ายต่อการใช้งาน เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งมีคุณภาพเชื่อถือได้ในเชิงวิชาการ กระบวนการเชิงวิจัย และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัยมาร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ โดยมีสถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์ เชียงใหม่ เป็นคณะทำงานหลัก โดยหวังว่า เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วเพื่อผลประโยชน์แก่เด็กไทยทุกคนต่อไป

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า เปิดการประชุมเชิญปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาเครื่องมือคัดกรองและประเมินความผิดปกติของเด็กปฐมวัย" การทำงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และหน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

ด้าน พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พ่อแม่ต้องตรวจเช็กพัฒนาการลูกตามคู่มือที่ได้รับจากแพทย์โดยลงบันทึกประจำวันก่อนนำมาให้แพทย์ตรวจในเรื่องการพัฒนาการ แต่ปัจจุบันพ่อแม่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือเห็นถึงความจำเป็น ฉะนั้น ต้องมีการทุ่มงบประมาณในหลายหน่วยงานให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อทำเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพในการตรวจพัฒนาการเด็ก ให้ทุกพื้นที่ให้บริการและการดูแลที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กที่พัฒนาการผิดปกติได้ถึง 15% ภายในเวลา 5 ปี

ศ.เกียรติคุณ พญ.ศิริกุล อิศรานุรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กล่าวว่า 11 ปีที่ผ่านมา พบสาเหตุที่เด็กปฐมวัยไม่มีพัฒนาการตามวัย เนื่องจากขาดเครื่องมือที่ช่วยให้สมองของเด็กมีพัฒนาการที่สมวัย ดังนั้น จะต้องให้ความสำคัญของสมองในการพัฒนา โดยการป้อนข้อมูลลงในสมองของเด็กที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะมีจำนวนเด็กที่ผิดปกติสูงถึง 10% หากไม่ทำต่อเนื่องเด็กจะไม่มีพัฒนาการ ฉะนั้นต้องมีการคัดกรองเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตามจากการประเมินและพัฒนาเครื่องมือช่วยพัฒนาสมองของเด็กพบว่าได้รับการสนใจมากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงแค่ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจสุขภาพของฟัน เท่านั้น

ที่มา --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 27 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--