ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อธุรกิจ "สเต็มเซลล์ขายฝัน" เพราะแนวทางการรักษาส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นวิจัยทดลอง ขณะที่การรักษาโรคทางอายุรกรรม ได้ผลเฉพาะ 5 โรคทางโลหิตวิทยา ห่วงใช้ผิดวิธีเกิดผลกระทบร้ายแรง หลังพบรายงานผู้ป่วยทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นโรคมะเร็งตามมาจากกระบวนการเตรียมสเต็มเซลล์ไม่ถูกต้อง

วานนี้(6 ก.ย.) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์ ประกอบด้วย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมแถลง เรื่อง "แนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคทางอายุรกรรม"หลังพบความนิยมประชาชนใช้รักษาโรคมากขึ้น แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

นพ.เกรียง ตั้งสง่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์จะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์(stem cell) ซึ่งมาจากหลายแหล่ง เช่น เซลล์ของตัวอ่อนของทารก และเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ของมนุษย์ ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามนำผลศึกษาที่ได้จากการวิจัย มาพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคต่างๆ ในมนุษย์ ซึ่งแม้ว่านานาประเทศจะมีการศึกษา เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาหลายสิบปี

แต่อย่างไรก็ตามทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ และสมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์ ขอยืนยันว่า จากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ยังคงจำกัดการรักษาเฉพาะการนำสเต็มเซลล์ ที่ได้จากเซลล์ไขกระดูกของผู้ป่วยเองหรือจากพี่น้อง ของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบโลหิตวิทยา 5 โรค คือ โรคมะเร็งโลหิตขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยดิโลมา(multiple myeloma) และโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซิเมีย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา

นพ.เกรียง กล่าวต่อว่า การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคอื่นๆ เช่น การยืดชีวิต ชะลอความเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะ หรือช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอย่างได้ผลในระยะยาวนั้น ยังไม่มีข้อบ่งชี้หรือผลการศึกษาที่ยืนยันได้ชัดเจน โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ อันเนื่องมาจากจากความชราหรือจากโรคดั้งเดิม เช่น ความเสื่อมของสมอง หัวใจ ไต ขณะนี้องค์กรวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางทั่วโลก ยังไม่มีการกำหนดแนวทางรักษาด้วยสเต็มเซลล์ไว้ในเวชปฏิบัติ ยกเว้น โรคทางโลหิตวิทยา 5 โรค ข้างต้น

"การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาอย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดโทษกับผู้ป่วยมากกว่า เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีสารโปรตีนแปลกปลอม หรือเซลล์แปลกปลอม ในระหว่างกระบวนการเตรียมสเต็มเซลล์ที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งจากรายงานการใช้สเต็มเซลล์อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งในผู้ป่วยคนไทยและต่างประเทศ พบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงตามมา หลังเข้ารับการรักษา" นพ.เกรียง กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสเต็มเซลล์มาใช้อย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากผู้ป่วยตั้งความหวังว่าจะเกิดผลดี ซึ่งเกินกว่าองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ซึ่งแม้แพทย์บางคนอาจมีแนวความเชื่อว่าสเต็มเซลล์สามารถใช้รักษาได้ผลดี ในขณะที่บางคนก็รู้ว่ารักษาไม่ได้ผล ตรงนี้จึงถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลักมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ ดังนั้นจึงขอแสดงจุดยืนว่า แพทย์ไม่ควรนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สำหรับการรักษาโรคระบบโลหิตวิทยา 5 กลุ่มโรค

ด้าน นพ.วันชัย วนะชวนาวิน นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด แก่ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ทำได้โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของพี่หรือน้องที่เข้ากันได้ มาให้ผู้ป่วยเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงที่ปกติ แทนเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติทางพันธุ์กรรม โรคไขกระดูกฝ่อ ทำได้โดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของพี่หรือน้องที่เข้ากันได้ มาแทนเซลล์ต้นกำเนิดเดิมของผู้ป่วยที่บกพร่องหรือขาดหายไป

ขณะที่โรคมะเร็งเม็ดบางชนิด ได้แก่ มะเร็งเลือดขาว โดยเฉพาะชนิดเฉียบพลัน โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยดิโลมา ทำได้โดยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้กับผู้ป่วย หลังจากที่ผู้ป่วยรักษาด้วยเคมีบำบัดจนเซลล์มะเร็งเหลือน้อยมาก และปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากพี่หรือน้อง หรือบางกรณีอาจเป็นเซลล์จากผู้ป่วยเอง เพื่อทดแทนสเต็มเซลล์เม็ดเลือดเดิมของผู้ป่วยที่บกพร่องไปหลังจากให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงหรือการฉายแสง

นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ แพทยสภา กล่าวว่า สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ที่แบ่งตัวเพิ่มได้ไม่จำกัด และจะยังไม่เจริญเป็นเซลล์เต็มวัย ซึ่งสเต็มเซลล์นั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดคุณสมบัติต่างกัน ทำหน้าที่สร้างเซลล์ร่างกายต่างชนิดกัน เช่น สเต็มเซลล์สมองสร้างเซลล์ประสาท สเต็มเซลล์ในไขกระดูกและสเต็มเซลล์จากสายสะดือทารกสร้างเซลล์เม็ดเลือด โดยสเต็มเซลล์จากอวัยวะหนึ่งไม่สามารถสร้างเซลล์ของอีกอวัยวะหนึ่งได้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงมีการนำไปใช้ต่างกัน

ทั้งนี้ การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคมี 3 แนวทางใหญ่ๆ 1.ปลูกสเต็มและถ่ายเซลล์เข้าไปแทนที่สเต็มเซลล์ที่ไม่ทำงาน ในอวัยวะที่ต้องมีการสร้างสเต็มเซลล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สเต็มเซลล์ที่ปลูกถ่ายไปสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นๆ ไปอีกหลายปี แต่เนื่องจากเทคนิคอวัยวะที่ปลูกถ่ายมีความจำกัด การรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก จึงมีเพียงการนำเซลล์จากไขกระดูกไปรักษาโรคระบบโลหิตวิทยาเท่านั้น

2.การนำเซลล์ไปสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะก่อนนำมาปลูกถ่าย เช่น เซลล์ประสาท ที่สร้างสารโดปามีนสำหรับผู้ป่วยโรคพาห์กินสัน เซลล์ตับอ่อนที่หลั่งอินซูลินรักษาโรคเบาหวาน แต่ยังคงอยู่ในขั้นการทดลอง เนื่องจากข้อจำกัดทางคุณสมบัติ ของเซลล์ต้นกำเนิดร่างกายในอวัยวะต่างๆ ที่ไม่ครบทุกอวัยวะ ทำให้สร้างเซลล์ได้ไม่ครบทุกชนิด และเพิ่มจำนวนได้จำกัดในหลอดทดลอง

และ 3.การปลูกเซลล์หวังให้เกิดการกระตุ้นการซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่แสดงประสิทธิภาพมากเพียงพอ จึงยังไม่มีสมาคมทางการแพทย์ยอมรับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน

"ในส่วนของการนำสเต็มเซลล์จากสัตว์มาใช้ในมนุษย์ ขณะนี้ร่างแพทยสภาฉบับเดิมยังไม่ได้มีการกำหนดถึงเรื่องนี้ มีเพียงการกำหนดในเรื่องการใช้สเต็มเซลล์จากมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามหากอ้างอิงตามข้อมูลวิชาการ สามารถพูดได้ว่าการนำสเต็มเซลล์จากสัตว์มาใช้ในมนุษย์นั้น โอกาสได้ผลดีนั้นน้อยมาก เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า การทดลองเอาสเต็มเซลล์จากสัตว์อื่น มาฉีดเข้าไปยังสมองหนูยังเกิดอาการอักเสบ ดังนั้นหากนำมาฉีดหรือปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ โอกาสแพ้หรือการทำลายเซลล์ที่คล้าย ความเสี่ยงจึงสูงมาก" นพ.นิพัญจน์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 กันยายน 2556