ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข อภ. สปสช. ร่วมราชวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดระบบสำรองยาและเวชภัณฑ์ในภาวะภัยพิบัติ เสนอบัญชียาจำเป็น พฤษภาคมนี้ ก่อนเป็นศูนย์สต๊อกยาครั้งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะภัยพิบัติ ทั้งพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และสึนามิ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ ต่างๆ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการขนส่ง หรือแม้ กระทั้งภัยพิบัติในต่างประเทศที่ไทยนำเข้ายาก็ส่งผลกระทบโดยตรง เพราะหากนำเข้าไม่ได้ ผู้ป่วยจะขาดแคลนยาทันที นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำการจัดระบบสำรองยาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน และจัดทำเป็นศูนย์การสำรองยาระดับประเทศครั้งแรกขึ้น โดย อภ.ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานวิชาการ ราชวิทยาลัยต่างๆ อาทิ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

นพ.วิทิตกล่าวว่า เบื้องต้นมีการหารือถึงการจัดระบบยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอในภาวะฉุกเฉิน โดยต้องสำรองอย่างน้อย 1-2 เดือนขึ้นไป และหากมีการสำรองยาแล้วประมาณ 6 เดือน แต่ไม่เกิดเหตุวิกฤต หรือภัยธรรมชาติใดๆ ที่ส่งผลต่อระบบยา อภ.จะทำหน้าที่ในการลำเลียงยาดังกล่าวไปใช้ในสถานพยาบาล เพื่อไม่ให้เกิดการสต๊อกยาโดยไม่ได้ใช้ ในส่วนของรายชื่อบัญชียาและเวชภัณฑ์ ที่จำเป็น ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ราชวิทยาลัยต่างๆ กลับไปจัดทำบัญชียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและ ต้องใช้อย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่น ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

นพ.ประทีบ ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การทำบัญชียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉินนั้น เมื่อราชวิทยาลัยต่างๆ ได้ ทำบัญชียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นแล้วเสร็จ จะเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาและคัดกรองจัดทำเป็นบัญชียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในอันดับต้นๆ โดยมอบให้ นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เป็นประธานคณะทำงานในการคัดกรองบัญชีดังกล่าว เบื้องต้นยาที่จำเป็นจะมุ่งเน้นยา ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องได้รับยา อย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะ สุดท้าย ในการใช้น้ำยาล้างช่องท้อง และฟอกเลือด ผู้ป่วยเอชไอวีที่ต้องใช้ยาต้านไวรัสฯ ผู้ป่วยโรค เบาหวาน โดยเฉพาะชนิดที่ต้องได้รับอินซูลีน รวมไปถึงผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องสำรองยาและเวชภัณฑ์ ที่ใช้ในห้องผ่าตัดด้วย เช่น การดมยา ซึ่งจำเป็น มากในการผ่าตัด และเครื่องมือทดแทนการทำงานของหัวใจ ซึ่งในผู้ป่วยหัวใจบางกรณีต้องใช้ เครื่องมือดังกล่าว หากเสียจำเป็นต้องมีเครื่องทดแทนทันที

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 มีนาคม 2556