ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เมื่อวันที่ 12 กันยายน นางหรรษา ไทยศรี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการศึกษาเรื่อง "การเปรียบเทียบขั้นตอนระยะเวลาการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี-1 ในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ ด้วยวิธี DNAPCR ระหว่างส่งตรวจชนิดหลอดเลือดและกระดาษซับเลือด ของศูนย์วิจัยทางคลินิก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อปี 2555-2556" ในการประชุมวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2556 ว่า ในปี 2554 สธ.ได้ปรับนโยบายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก (PMTCT) กำหนดให้เด็กทุกรายที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีให้เร็วที่สุด (Early infant Diagnosis: EID) ด้วยวิธีการตรวจแบบเพิ่มปริมาณพันธุกรรม หรือ PCR โดยตรวจครั้งแรก อายุ 1 เดือน ครั้งที่ 2 อายุ 2 เดือน เพื่อยืนยันผล

นางหรรษากล่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2556 งานวิจัยพบว่าสามารถรักษาเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ มีความเป็นไปได้สูงที่การจัดการเชิงรุกเพื่อหยุดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกให้เป็นศูนย์ในปี 2559 ตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ ขณะนี้ไทยพบอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกร้อยละ 1.98

"การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีถือเป็นวิธีที่ดี เนื่องจากสามารถตรวจหาเชื้อในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน นอกจากนี้ยังมีวิธีการส่งตรวจเลือดจากแผ่นซับเลือดแทนการส่งหลอดเลือดตรวจ เพื่อความสะดวกและลดปัญหาการดูแลรักษาเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ครอบคลุม โดยสามารถยืดเวลาการส่งได้นานถึง 1 เดือน ทั้งนี้ จากการศึกษาและทดลองการตรวจรักษาที่เคสมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกา พบว่าหากพบ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เร็วก็จะสามารถรักษาให้หายได้" นางหรรษากล่าว และว่า ในเดือนตุลาคมนี้ผลการยืนยันการตรวจครั้งที่ 3 จะออก หากไม่พบเชื้ออีกก็ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อพบเชื้อเร็ว ให้ยาเร็ว สามารถรักษาได้

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 14 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง