ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ ทว่านโยบายกลับยังไม่สะเด็ดน้ำ แนวคิดรื้อวิธีการทำงานใหม่ภายใต้โครงสร้างเดิมของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีกำหนดดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ หากมองอย่างผิวเผินดูเหมือนว่ารุดหน้าเกือบสมบูรณ์

ตั้งแต่ต้นปี 2556 มีการโยนแนวคิดของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ซึ่งได้รับไฟเขียวจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ออกมาหยั่งเสียงให้สาธารณะได้ขบคิด

จับความโดยหลักคือ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.นี้ สธ.จะแบ่งการบริการทั่วประเทศออกเป็น “13 เขตสุขภาพ” (service provider) แต่ละเขตประกอบด้วย 6-7 จังหวัด มีผู้ตรวจราชการสธ. เป็น “ซีอีโอ” เขตสุขภาพ ทำหน้าที่เป็นผู้กระจายงบประมาณลงไปยังสถานบริการ จัดซื้อ จัดจ้าง การจ้างบุคลากร รวมถึงจัดบริการร่วมกันในแต่ละโรงพยาบาล

แนวทางการบริหารเดิมที สธ.จะมอบนโยบายและจัดสรรงบประมาณตรงลงไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แต่ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยจะให้ “พื้นที่” เป็นผู้กำหนดนโยบายเอง

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ภาพชินตาที่เกิดขึ้นหลากหลายจังหวัดคือการเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจในภารกิจดังกล่าวทั้งจาก นพ.ณรงค์ หรือแม้แต่ นพ.ประดิษฐ ที่ช่วยออกแรงขับไม่น้อย

หัวใจหรือความจำเป็นที่ต้องตั้ง “13 เขตสุขภาพ” นั้น นพ.ณรงค์ เคยอธิบายไว้ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งไข่โดยอธิบายโดยง่ายว่า 1.เมื่อรวมตัวกันเป็นเขตสุขภาพแล้วโรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดใหญ่จะช่วยเหลือกันได้ เช่น หากโรงพยาบาลขนาดเล็กรักษาคนไข้ไม่ไหวก็จะส่งต่อให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือหากบางโรคที่ไม่ยากและโรงพยาบาลขนาดใหญ่แออัด แพทย์จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะสามารถใช้โรงพยาบาลขนาดเล็กผ่าตัดได้

2.เมื่อรวมกลุ่มกันมากๆ แล้วจัดซื้อยารวมกัน แน่นอนว่าจะได้ราคาที่ถูกลง 3.เมื่อแต่ละเขตสุขภาพวางยุทธศาสตร์ร่วมกันได้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็จะผลักดันความเป็นเลิศที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จากนี้จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพ

สำหรับการดำเนินงานของเขตสุขภาพจะมีการตั้งกรรมการบริการระดับเขตที่เรียกว่า “คณะกรรมการจัดบริการระดับเขต” (Service provider board) ประกอบด้วยตัวแทนแต่ละเขต เช่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถมาปรับใช้กับกับพื้นที่อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ เมื่อกระจายอำนาจทั้งหมดแล้ว สธ.จะเปลี่ยนบทบาทเป็น “ผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพระดับชาติ” (National Health Authority) แทน เพื่อให้การจัดบริการของหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานอื่นๆ สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ดี จนถึงวันที่ระยะเวลาล่วงเลยมามากกว่า 8 เดือน กลับยังไม่ปรากฏความชัดเจนใดเลยว่า “เขตสุภาพ” สามารถตอบโจทย์ข้างต้นได้ที่สำคัญจนถึงขณะนี้โครงสร้างของ “เขตสุขภาพ” กลับยังไม่แล้วเสร็จ

จากนี้คือความคืบหน้าล่าสุดที่ภาครัฐวางไว้ (และยังมีโอกาสปรับเปลี่ยน)

ภายใน “เขตสุขภาพ” มีองค์ประกอบ 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ผู้ให้บริการ (Provider) ร่วมกันกำหนดแผนการจัดบริการ การจัดการทรัพยากรบุคคล การลงทุน การสร้างการเข้าถึงบริการ 2.ผู้ซื้อบริการ (Purchaser) กำหนดแผนการซื้อบริการที่สะท้อนความต้องการของประชาชนในเขตสุขภาพ

3.คณะกรรมการเขตสุขภาพ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ให้บริการ โดยฝ่าย “ผู้ซื้อบริการ” รวมกันเป็นอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สวัสดิการข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการตกลงเกี่ยวกับการซื้อบริการกับผู้ให้บริการ

สำหรับฝ่าย “ผู้ให้บริการ” รวมกันเป็นคณะกรรมการประสานการพัฒนางานสาธารณสุขระดับเขต (คปสข.) ประกอบด้วย สถานพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลนอกสังกัด สถานพยาบาลเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ คณะกรรมการเขตสุขภาพข้างต้น จะดูแลการทำงานของ “สำนักงานเขตสุขภาพ” ที่มีผู้บริหารเป็นผู้บริหารกระทรวงระดับ 10 ที่ผ่านงานด้านบริหารโรงพยาบาลและกรม มีความสามารถในการบริหาร โดยภายใต้ “สำนักงานเขตสุขภาพ” ประกอบด้วย 4 ฝ่าย ได้แก่ นโยบายและแผนงาน การเงินการคลัง บริหารทรัพยากร และธุรการ

ที่ผ่านมาโครงสร้างการบริหารของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีขาหลักอยู่ที่ “สำนักงานปลัด” และ “กรมวิชาการต่างๆ” แต่หลังจากนี้จะมีการเพิ่มขาสำคัญขึ้นอีก 2 ขา ได้แก่ “สำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สาธารณสุข” และ “สำนักงานประสานงานสาธารณสุข” โดยทั้งสองดำเนินการในรูปคณะกรรมการเช่นเดียวกัน มีรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดสธ.เป็นกรรมการ และให้รองปลัดสธ.ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ

สำหรับบทบาทการทำงานร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพ “สำนักงานปลัด” จะติดตามและประเมินผลจากภายนอก “สำนักงานประสานงานสาธารณสุข” นอกจากสนับสนุนบุคลากรให้กับ “กรมวิชาการต่างๆ” แล้ว ยังเป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่างสธ.กับเขตสุขภาพด้วย ส่วน “กรมวิชาการต่างๆ”จะกำหนดนโยบายร่วมกับ “สำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สาธารณสุข” และยังประสานกับศูนย์วิชาการในสำนักงานเขตสุขภาพ

“ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบหน่วยงานด้านสุขภาพบางส่วนทำงานซ้ำซ้อน และทรัพยากรจากส่วนกลางลงไปไม่ถึงระดับชุมชนในพื้นที่ งบประมาณก็ยังคงกองอยู่ที่สำนักงานปลัด จึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจออกไปยัง 13 เขตสุขภาพ” นพ.ณรงค์ สรุปความคิดรวบยอดทั้งหมด

จนถึงบรรทัดนี้ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ทุกโครงสร้างมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ ที่สำคัญยังไม่มีสิ่งใดรับประกันความสำเร็จว่าเมื่อจัดตั้งเขตสุขภาพแล้วผลเลิศจะเป็นไปตามที่วางไว้ ดังนั้นก่อนจะถึงดีเดย์ 1 ต.ค. กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความกระจ่าง

ทั้งนี้ ก็เพื่อจะลบล้างข้อครหาแพ็กรวมทุกหน่วยงาน ตั้งเขตสุขภาพ มอบอำนาจผู้ตรวจ สธ.ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ