ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ - คปภ./วงการประกันภัย  ประกันนักท่องเที่ยวต่างชาติเคว้ง!  ค่ายประกันเผยไร้ความคืบหน้าหลังผ่าน3 เดือนที่สธ.รื้อโจทย์ใหม่ขอคุ้มครองเจ็บป่วยมากกว่าอุบัติเหตุพ่วงค่ารักษาพยาบาลแฉเบื้องหลังรัฐเงียบฉี่เพราะคิดจะทำเองอ้างค่ายประกันโขกเบี้ยแพง เก็บนักท่องเที่ยวหัวละ 1,200 บาท ตายพิการจ่าย 1 ล้าน ค่ารักษา 3 แสนซุ่มศึกษา 2 แนวทางให้สปสช.-สปส.เป็นแกนหลักดึงค่ายประกันที่รัฐถือหุ้นรองรับคาดไม่พ้นแบรนด์"ทิพย" ส่วนอีกช้อยส์ให้บริษัทประกันช่วยกันขายเหมือนเดิมเผยโมเดลรัฐกินรวบกองทุนประกันรถภาคบังคับที่พยายามมาหลายปีด้วยด้าน "เคเอสเค" ยักษ์ประกันมาเลย์เสือปืนไวคว้าสัญญาสมาคมท่องเที่ยวจีนขายประกันทัวร์จีน 30 ล้านคน

หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดนโยบายทำประกันภัยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ชูเป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยนอกเหนือจากต้องการลดภาระด้านค่ารักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวที่ปีละกว่า 250 ล้านบาทที่รัฐบาลแบกรับอยู่โดยให้ธุรกิจประกันภัยศึกษารูปแบบประกัน

ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย "สยามธุรกิจ"ว่า นับตั้งแต่สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยนำเสนอรูปแบบประกันภัยสำหรับโครงการประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นประกันภัยอุบัติเหตุ (ประกันพีเอ) พ่วงค่ารักษาพยาบาลให้สธ.พิจารณาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นทางสธ.ท้วงติงพร้อมกับยื่นข้อเสนอใหม่ว่าอยากได้รูปแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยมากกว่าประกันอุบัติเหตุเท่ากับสมาคมต้องกลับมาทำข้อเสนอใหม่ ปรากฏว่าตั้งแต่ตอนนั้นเรื่องก็เงียบไป

"ผ่านมา 3 เดือน ทางสธ.ไม่มีการเรียกประชุมอีกเลยนับจากนั้น เราไม่รู้ว่าโครงการจะเป็นยังไงต่อ  เท่าที่ได้ข้อมูลมาเขาบอกว่าเบี้ยประกันภัยที่เราเสนอไปหัวละ 1,200 บาทเทียบกับความคุ้มครองแพงไป"

ด้านแหล่งข่าวจากวงการประกันภัยให้ความเห็น "สยามธุรกิจ" ว่า เท่าที่ทราบทางสธ.มองว่าเบี้ยประกันที่บริษัทประกันเสนอไปแพง หากสธ.ทำเองสามารถที่จะบริหารได้ดีกว่าพูดง่ายๆ  คือ อยากทำเองเพื่อลดต้นทุน โดยเรื่องนี้ทางสธ.ได้ให้สถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาความเป็นไปได้ที่สธ.จะนำโครงการนี้มาทำเอง

"เป็นนโยบายของสธ.ที่พยายามจะดึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพที่เอกชนทำอยู่มาทำเองให้หมด นอกจากโครงการประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้แล้ว ยังรวมไปถึงกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งเกี่ยวพันกับประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประกันภัยจากรถหรือประกันภัยรถภาคบังคับที่บริษัทประกันภัยขายอยู่ด้วย เขามองว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้ หากรัฐสามารถทำเองได้ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุด"

สำหรับโครงการประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น แนวทางศึกษาของสธ.มี 2 แนวทาง คือ 1.เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมกันทำโครงการนี้ และดึงบริษัทประกันภัยบางแห่งเข้ามารับประกันภัย เช่น บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.ทิพยประกันชีวิต ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่และ2.ยืนตามรูปแบบเดิมที่ให้บริษัทประกันภัยช่วยกันขาย

"ตอนนี้เรื่องชะลอไป เราก็ไม่ทราบว่าทางสธ.จะดำเนินการอย่างไรต่อ ผิดกับตอนแรกที่เร่งให้เราเสนอมาก เราทำหน้าที่แล้วการตัดสินใจขึ้นกับสธ.ว่าจะเอาอย่างไร"

รูปแบบประกันพีเอพ่วงค่ารักษาพยาบาลที่ธุรกิจประกันภัยนำเสนอให้สธ.พิจารณาในตอนแรกจะคุ้มครองกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติประสบอุบัติเหตุ สูญเสียอวัยวะสองส่วนอาทิ แขน ขา สาย ตาหรือทุพพลภาพภาวรสิ้นเชิงจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ คนหากสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งจะคุ้มครอง600,000 บาท หากต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไม่เกิน300,000 บาทต่อคนต่อครั้ง เบี้ย  1,200 บาทต่อคน โดยนักท่องเที่ยวที่จะทำประกันจะต้องพำนักในประเทศไทยเกิน 30 วัน และต้องขอการอนุมัติเข้าเมืองหรือวีซ่าอย่าง ถูกกฎหมาย

อนึ่ง สาเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เกิดยากคือวิธีการขายจะใช้รูปแบบไหน จะบังคับให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซื้อประกันอย่างไร เก็บค่าเบี้ยประกันวิธีไหน ถ้าบวกเข้าไปในตั๋วโดยสารทำได้ยากเพราะสายการบินมีมากถ้าจะให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ขายใครจะเป็นคนดูแลเบี้ยประกันหรือถ้าจะให้ไปเปิดบูธขายในสนามบินจะบริหารจัดการอย่างไร

อย่างไรก็ดี แม้โครงการของรัฐบาลยังไม่เกิดแต่มีบริษัทประกันภัยบางแห่งชิงขายประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยวงเงินคุ้มครองเท่ากับภาครัฐไปแล้ว อาทิ บริษัทเคเอสเค ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ค่ายประกันภัยยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียที่ได้เซ็นสัญญากับสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย-จีนขายประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง (TA) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยซึ่งในแต่ละปีมีคนจีนเดินทางเข้ามาประมาณ 30 ล้านคนคุ้มครองทุนประกัน 1 ล้านบาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 500,000 บาท ไม่เปิดเผยค่าเบี้ยโดยเป็นบริษัทประกันภัยแห่งเดียวที่เซ็นสัญญากับสมาคมฯ คาดว่าจะมีเบี้ยประกันเป็นหลัก 10 ล้านบาทต่อปี

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 20 ก.ย. 2556--