ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบทยื่นจดหมายเปิดผนึกให้นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. คัดค้านการรื้อแนวทางการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบประมาณ 2557 โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า จากการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้ส่งสัญญาณอย่างโจ่งแจ้งที่จะรื้อการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพของ สปสช.ในปีงบ 2557 ที่ผ่านบอร์ด สปสช.ไปแล้ว ด้วยการนัดประชุมผู้บริหารทั้งในระดับกระทรวง ระดับเขต ระดับจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นการใช้อำนาจปลัดอย่างผิดๆนำโดยห้ามมีการแตกแถว และส่งสัญญาณให้บอยคอตการประชุมชี้แจงงบ 57 ของ สปสช. ซึ่งนับเป็นการกระทำที่น่าผิดหวังยิ่งสำหรับปลัดณรงค์ ผู้ที่เคยเป็นความหวังของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับการเปลี่ยนแปลง

ชมรมแพทย์ชนบทมีความเห็นต่อกรณีความดันทุรังสูงของปลัดณรงค์ดังนี้

1.การผลักดัน 5 เปลี่ยน เพื่อรวบอำนาจการจัดสรรงบของ สปสช.มาอยู่ที่ สธ. นั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ อันได้แก่

งบผู้ป่วยนอก OP จากที่โอนตรง รพ.100% สธ.จะโอนตรงเพียง 80% อีก 20% ส่วนกลางขอจัดสรรเองตามผลงาน แบบที่รักใครก็ได้ ใครค้านก็อด

งบผู้ป่วยใน IP ที่เคยจัดสรรตาม DRGs จะเปลี่ยนมาใช้ Unit Price  ทั้งๆที่ไม่มีเคยมีการศึกษาหรือทดลองใช้ว่าดีกว่า และวิธีคำนวณก็ยังมั่วมาก    

งบส่งเสริมป้องกัน PP กระทรวงหวังจะยึดมาทำเอง หรือไปก็ทำให้ป่วนด้วยการส่งงบตรงไปที่ รพ.สต. ทำให้เอกภาพและเกลี่ยงบช่วยกันระดับอำเภอล้มเหลว  อีกทั้งมีแนวคิดที่จะยกเลิกงบที่สมทบกองทุนตำบลเพื่อนำกลับมาให้ สธ.ทำเรื่องสร้างสุขภาพเองด้วย

งบลงทุนค่าเสื่อม จากเกณฑ์ใหม่ที่แบ่งลงอำเภอ( CUP):ส่วนกลาง = 80:20 สธ.จะรวบมาจัดการระดับจังหวัด เขต กระทรวง บอกว่าอำเภอใช้เงินไม่เป็น

งบกองทุนย่อยต่างๆ จะให้ยกเลิกหรือยุบกองทุนลงไปอีก โดยให้เหตุผลที่รับไม่ได้ว่า ทั้งกองทุนเอดส์  ผ่าตัดต้อกระจก ล้างไต หรือจิตเวช ไม่ได้ทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น

2.การผลักดันการรื้อมติ สปสช.โดยขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น ต้องเริ่มด้วยการศึกษาข้อดีข้อเสียและจัดทำเป็นร่างข้อเสนอที่มีเอกสารการศึกษาทางวิชาการ back up หลังจากนั้นก็ต้องนำเข้าเสนอผ่านคณะอนุกรรมการการเงินการคลังหรืออนุกรรมการชุดต่างๆของ สปสช.ในการพิจารณารายละเอียดและกลั่นกรองก่อน หากคณะอนุกรรมการเห็นชอบ จึงนำวาระเข้าวาระปกติสำหรับที่ประชุมบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาต่อไป  เพื่อจะได้มีความรอบคอบ ไม่ผิดพลาดเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อประชาชน จะไม่มีการเสนอมาอย่างรีบเร่งเข้าวาระจรโดยที่ไม่มีผลการศึกษาล่วงหน้าและไม่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ เฉกเช่นที่ปลัดณรงค์พยายามทำผิดขั้นตอนและดันทุรังจะดันให้ได้ ซึ่งเท่ากับการใช้วิธีอันธพาล ไม่ยอมรับกติกาที่มีอยู่ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า หากมาตามกติกาก็ไม่มีเหตุผลพอที่จะอธิบายได้

3.ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการกระจายงบปี 2557 ไปแล้ว โดยที่ประธานการประชุมในครั้งนั้นก็ชื่อ ประดิษฐ สินธวณรงค์ การที่ประดิษฐเขียนด้วยมือแล้วจะมาฮั้วกับปลัดณรงค์ลบด้วยเท้า จึงนับเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง เป็นรัฐมนตรีแต่ไม่มีหลักการ มีแต่การเล่นเกมส์ หาจังหวะทำลายองค์กรอย่าง สปสช.ที่ตนเองก็เป็นประธาน บอร์ด  แบบนี้ควรเรียกว่า “คนทรยศ ” ไม่ควรค่ากับตำแหน่งประธานบอร์ด

4.นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา 10 ปีนั้น ได้ถูกวางรากฐานไว้อย่างดีเยี่ยมจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรกผู้ล่วงลับ ครั้งหนึ่ง นพ.อนุวัตร แก้วเชียงหวาง ได้ถาม นพ.สงวนว่า การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในครั้งนั้น คุณหมอสงวนยึดหลักการอะไร  คุณหมอสงวนกล่าวว่า “ง่ายนิดเดียว เพราะมันถูกพิสูจน์มาตลอดว่า เมื่อไรที่เงินอยู่ไกลชาวบ้าน สุดท้ายชาวบ้านก็จะได้แค่ไม้ไอติม ดังนั้นหลักการก็คือการเอาเงินไปให้ใกล้ชาวบ้านให้มากที่สุด ”  แต่การรื้อการจัดสรรครั้งนี้ เป็นไปเพื่อการดึงอำนาจการจัดสรรเงินกลับไปสู่ส่วนกลาง สุดท้ายโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และประชาชนจะได้กินแต่เพียงไอติมที่ติดไม้เท่านั้น

5.การที่กระทรวงมั่วนิ่มคิดเกณฑ์ MOC ที่ไม่มีใครรู้จัก สูตรการคำณวนก็คิดเอาจากคนสองคนมาใช้ในการจัดสรรเกลี่ยงบประมาณในระดับเขต และตามโผการกระจายงบพบว่า งบถูกโยกจากภาคอีสานจำนวนถึง 5,000 ล้านบาท ทั้งๆที่มีบางเขตมีเงินสะสมเพียง 1,000 ล้านเศษเท่านั้น โยกไปให้กับเขตบางเขตอีกเป็นพันล้านทั้งๆที่เขตนั้นมีเงินสะสมกว่า 5,000 ล้านบาท  ทั้งนี้เพราะสูตรการคำณวน MOC ผิดพลาด หรืออาจจะตั้งใจทำให้ผิดพลาด เนื่องจากไม่ได้นำรายรับจากกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการมาคิดคำณวนด้วย การจัดสรรงบเช่นนี้ด้วยเกณฑ์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นวิชาการ ก็เท่ากับว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณตามอำเภอใจนั่นเอง

ชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่า การกระทำดังกล่าวทั้งของปลัดณรงค์และรมต.ประดิษฐเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และหากยังมีความพยายามที่จะผลักดันหายนะให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ  การขอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงก็จะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จให้จงได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้กินไอติมเต็มแท่งหรือเกือบเต็มแท่ง  ไม่ใช่ให้คนในกระทรวงเลียก่อนจนประชาชนเหลือแต่ไม้ในที่สุด

ขณะที่นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การมายื่นจดหมายเปิดผนึกในครั้งนี้ เพื่อคัดค้านการที่ สธ.จะจัดสรรงบประมาณไปยังเขตบริการสุขภาพแทนที่จะจัดสรรไปยังโรงพยาบาลเช่นเดิม แต่จากการหารือกับ รมว.สาธารณสุข ได้รับการยืนยันว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ดังนั้น ทางกลุ่มจึงไม่ติดใจอะไร และไม่คัดค้านมติบอร์ดวาระอื่นๆ ในการประชุมครั้งนี้
       
ด้าน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ไม่มีการนำเรื่องการจัดสรรงบดังกล่าวเข้าบรรจุในวาระการประชุมแต่อย่างใด คิดว่าคงเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะอะไรที่พิจารณาไปแล้วก็ถือว่าผ่านไปแล้ว
       
นพ.ณรงค์ ปลัด สธ. กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีการประชุมชี้แจงเรื่องนี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการกระจายงบประมาณหลักประกันสุขภาพฯ แต่ไม่มีการรื้องบตามที่เข้าใจผิดกัน