ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้ยินคำว่า “ISDS” หรือ Investor-state Dispute Settlement  และคงไม่อยากสนใจมากนัก แต่หากบอกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย และคนไทยทุกคน กลายเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจและจับตามองอย่างใกล้ชิดทันที

นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)ที่ติดตามเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่าง ไทย-ยุโรป (FTA ) หรือการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู รอบ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้ข้อมูลว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีประเด็นที่ต้องจับตามองและน่ากังวล เนื่องจากมีการกล่าวถึงเรื่องการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและภาครัฐ  เรียกว่า ISDS  ที่ประกอบไปด้วย อักษรย่อ 4 ตัว คือ  I  – Investor คือ นักลงทุน   S -  State คือ  รัฐ D -  Dispute คือการทะเลาะกันหรือโต้แย้งกัน  และ S – Settlement หรือการระงับข้อพิพาท  ซึ่งกลไกระงับข้อพิพาทนี้ เป็นกลไกที่ต้องระวังและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ ถ้าไปขัดขวางการทำงานของเอกชน หรือทำให้กำไรที่คาดว่าจะได้ลดลง

“หมายความว่า หากบริษัทเอกชนมาลงทุนในประเทศไทย หรือยังไม่ได้มาลงทุน แต่มีแผนว่าจะมา และทำการร่วมมือกับไทยไว้ก่อนแล้ว แต่สุดท้ายมีนโยบายของภาครัฐที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทนั้นๆ จนทำให้บริษัทฯคิดว่าผลกำไรที่จะได้รับจะลดน้อยลง ก็จะสามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งการฟ้องร้องจะไปถึงขั้นอนุญาโตตุลาการ ทั้งๆที่โดยปกตินักลงทุนสามารถฟ้องศาลไทยได้อยู่แล้ว แต่การที่นักลงทุนหรือภาคเอกชนประเทศต่างๆ มองว่า การเลือกฟ้องร้องไปถึงขั้นอนุญาโตตุลาการจะได้เปรียบมากกว่า นั่นเพราะโดยปกติศาลไทยจะพิจารณาหลักฐาน เหตุผลความเหมาะสมต่างๆ เช่น การลงทุนใดส่งผลต่อสุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อมของไทยหรือไม่ แต่หากไปถึงขั้นอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาว่า กระทบหรือเป็นปัญหาอุปสรรคต่อภาคธุรกิจหรือไม่ ซึ่งนักลงทุนจะได้เปรียบข้อนี้” ผู้ประสานงาน FTA Watch ให้ข้อมูล

สิ่งที่น่ากังวล คือ หากมีความร่วมมือในข้อตกลง ISDS ในประเด็นสุขภาพ ผู้ที่เสียเปรียบที่สุดคือ คนไทยทุกคน

ยกตัวอย่าง กรณีประเทศออสเตรเลีย ออกมาตรการบุหรี่ซองเรียบ คือ ไม่มีสีสันต่างๆในการดึงดูดนักสูบหน้าใหม่ แต่ปรากฎว่าภาคธุรกิจก็ฟ้องรัฐออสเตรเลีย แต่สุดท้ายไม่เป็นผล เนื่องจากรัฐมองว่ามีประโยชน์ในแง่สุขภาพของประชาชน แต่สุดท้ายก็ไปฟ้องถึงขั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่า มีการตัดสินอย่างไร แต่ ณ ขณะนี้มีผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว  เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียไม่สามารถออกกฎระเบียบดังกล่าวได้ สุดท้ายก็มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน หมายความว่า ธุรกิจก็ได้รับผลกำไรขึ้นจากการสูบบุหรี่ทุกๆวันเช่นกัน

กรณีเยอรมนี รัฐบาลมีแผนยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  หลังเหตุการณ์ฟุกุชิมะที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนกว่า แต่ถูกนักลงทุนสวีเดนฟ้องล้มนโยบาย และเรียกค่าเสียหาย ผ่านกลไก ISDS เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้  กลไกอนุญาโตตุลาการจะเป็นการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างตัวแทนนักลงทุน  ตัวแทนรัฐบาล และ คนที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน  ซึ่งตัวแทนทั้ง 3 ฝ่ายไปประชุมกัน ศึกษาตัวสัญญา แล้วมีอำนาจตัดสินได้เลยว่ารัฐบาลผิดหรือไม่ ถ้าผิดแล้วจะต้องถูกลงโทษอย่างไร จ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ ซึ่งรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คดีแบบนี้เพิ่มจาก 108 คดีเป็น 390 คดี และ 91 %  เป็นนักลงทุนสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไล่ฟ้องรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น  

“กรณีดังกล่าวหากไทยเห็นด้วยจะส่งผลเสียหายมหาศาล  ซึ่งจริงๆ แล้วการดำเนินการลักษณะนี้ก็ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 190 เนื่องจากการมาฟ้องมั่วลักษณะนี้ทำไม่ได้ จากการหารือในการเจราจาเอฟทีเอครั้งล่าสุดที่เชียงใหม่ ทางฝ่ายรัฐไทยบอกว่า จะไม่มีการดำเนินการใดๆที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของไทย แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นไปตามที่กล่าวหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องจับตาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นส.กรรณฺการ์ กล่าวทิ้งท้าย

ปัญหา ISDS นอกจากการเฝ้าระวังในเรื่องบุหรี่ ในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง คือ ยา ซึ่งแน่นอนว่าคนไข้ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ 

เรื่องนี้รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการบริหารแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา ให้ข้อมูลว่า ในเรื่องสิทธิบัตรยาก็ได้รับผลกระทบจากความร่วมมือลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ยกตัวอย่าง กรณีที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ Eli Lilly ใช้ความตกลง NAFTA ซึ่งเป็นกลไกลข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ที่เน้นการลงทุน ฟ้องรัฐบาลแคนาดา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โทษฐานที่ไม่ยอมให้สิทธิบัตรแก่ยา Atomoxetine  ซึ่งใช้เพื่อบรรเทาปัญหาไฮเปอร์ในเด็ก โดย Eli Lilly อ้างว่า การไม่ให้สิทธิบัตรยานี้ เท่ากับรัฐบาลแคนาดาเข้าข้างบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศถือเป็นการเลือกปฏิบัติ  ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน

“การที่แคนาดาไม่อนุญาตให้สิทธิบัตรยาดังกล่าว เนื่องจากยาที่บริษัทยาจะขอขึ้นทะเบียนนั้น ไม่มีการดำเนินการหรือมีนวัตกรรมใดๆใหม่ๆ เรียกว่าเข้าข่ายการดำเนินการขอจดสิทธิบัตรยาในรูปแบบไม่จบสิ้น (Evergreen Patent) จึงไม่อนุญาต  แต่ทางบริษัทยา กลับไม่ยอมรับ และฟ้องรัฐ ซึ่งนำไปสู่อนุญาโตตุลาการ จนขณะนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด แต่น่ากลัวว่าท้ายที่สุดรัฐแคนาดาจะเสียเปรียบ เนื่องจากเมื่อมาถึงอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะเป็นกระบวนการสามฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายเอกชน และฝ่ายตัวแทนของทั้งรัฐและเอกชนเลือกมา โดยการพิจารณาจะเน้นในเรื่องส่งผลต่อการลงทุนหรือไม่ แต่ไม่มองภาพผลกระทบต่อสุขภาพเลย  ดังนั้น หากประเทศไทยจะมีการเจรจาหรือความร่วมมือลักษณะดังกล่าว ขอให้พิจารณาดีๆ ว่าได้ไม่คุ้มเสีย ”รศ.ภญ.จิราพร กล่าว

การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement-ISDS)  จึงเป็นประเด็นที่คนไทยทุกคนควรจับตามอง เพราะเราได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน