ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2556 วันที่ 1-7 พฤศจิกายนนี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า ปีนี้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะรณรงค์ในหัวข้อ "ฮอร์โมนความสุข...สร้างได้ทุกวัย" เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วประเทศ เรียนรู้และสร้างความสุขด้วยกิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน

นพ.เจษฎาบอกว่า มีการศึกษาจำนวนมากบ่งชี้ว่า ความสุขมีความสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคนเรามีความสุข สมองซีกซ้าย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์ และการคำนวณ จะทำงานมากขึ้น ขณะที่เมื่อเรามีความรู้สึกในเชิงลบ หรือมีความทุกข์ สมองซีกขวาซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และศิลปะจะทำงานมากกว่า ดังนั้น คนที่มีสมองซีกซ้ายทำงานมากกว่าซีกขวา จึงมักจะเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และมีความคิดในเชิงบวก

นพ.เจษฎาบอกด้วยว่า ความสุขยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน หรือ สารเคมีในสมอง เช่น "โดปามีน" ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ที่จะหลั่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ หรือได้รับการตอบสนองตามความต้องการ "ซีโรโทนิน" เป็นสารสื่อประสาทอีกชนิดหนึ่งที่หลั่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือรู้สึกมีความสุขสงบ และ "เอ็นดอร์ฟิน" หรือสารแห่งความสุข เป็นฮอร์โมนที่หลั่งในขณะที่อารมณ์ดี ช่วยลดความเจ็บปวด และมักจะหลั่งออกมาโดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกาย

การหลั่งของสารทั้ง 3 ชนิด นี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมกันใน ขณะที่เรามีความสุข ส่วนสารเคมีในสมองบางตัวที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ หรือความเครียด ได้แก่ "คอร์ติโซน" ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งเมื่อมีความเครียดหรือความกดดัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ทำให้ความสามารถในการคิดและการจำลดลง ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง

สำหรับวิธีเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุข ได้แก่ 1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที 2.กินอาหารจำพวกน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอลในระดับที่พอเหมาะ ไม่น้อยเกินไป การกินอาหารประเภทน้ำตาลหรือไขมันในระดับต่ำเกินไป จะทำให้ระดับโดปามีนในร่างกายต่ำไปด้วย กินกล้วย ธัญพืช สามารถช่วยเพิ่มระดับของโดปามีนได้ นอกจากนี้ กินอาหารโปรตีนที่มีส่วนประกอบของ "ทริปโตเฟน" ในปริมาณมาก เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ปลา นม กล้วย ถั่วลิสง จะช่วยเพิ่มการหลั่งของซีโรโทนิน

3.ทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดดอย่างน้อย 20 นาที ในตอนเช้า จะส่งผลให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนิน ที่จะเปลี่ยนเป็น ซีโรโทนิน ช่วยในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ในตอนกลางคืน 4.นวดตัว เป็นพลังจากการสัมผัส ซึ่งมีรายงานวิจัยโดย Touch Research Institute ของ Miami School of Medicine พบว่า การนวดตัวช่วยเพิ่มซีโรโทนิน ถึงร้อยละ 28 และลดสารคอร์ติโซน ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ถึงร้อยละ 31 และ 5.ลดเครียดและจัดการอารมณ์ที่ทำให้เครียด เช่น ความกังวล ความโกรธ ความกลัว เพื่อช่วยเพิ่มระดับของซีโรโทนิน อาทิ การฝึกหายใจคลายเครียด

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครสามารถเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสุขได้ที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่าง วันที่ 1-3 พฤศจิกายน กิจกรรมภายในงาน อาทิ นิทรรศการและการมอบรางวัลการประกวดอินโฟกราฟิก หัวข้อ "ความสุข ...สร้างได้ทุกวัย" การเสวนา "ความสุข...สร้างได้ทุกวัย : ฮอร์โมนสุขใจ...ในวัยว้าวุ่น" โดยทีมผู้ผลิตและนักแสดงละครเรื่อง "ฮอร์โมน...วัยว้าวุ่น" การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับฮอร์โมนความสุขในทุกวัย การประเมินความสุขด้วยตัวเองผ่านเซียมซีความสุข และกิจกรรมสร้างสุขอีกมากมาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556