ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณี กรมบัญชีกลาง มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 356 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2556 เรื่อง แนวทางการกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาสำหรับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ถึงปลัดกระทรวง อธิบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ อธิการบดี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ/สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด

เนื้อหาระบุว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจึงได้มีการหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดราคายาสำหรับการเบิกจ่ายจากสิทธิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีสิทธิ/ผู้ป่วย

กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้ว ให้กำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายาสำหรับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ดังนี้ 1. ยาชื่อสามัญ (Generic name) ให้กำหนดอัตราการเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคายารายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2. ยาต้นแบบ (Original) ให้กำหนดอัตราเบิกจ่ายตามราคากลาง ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้หากสถานพยาบาลสามารถจัดซื้อยาได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคากลางดังกล่าว สถานพยาบาลสามารถเบิกค่ายาโดยคิดกำไรส่วนเพิ่ม (Mark up) ได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อได้ แต่ไม่เกินราคากลางที่กำหนด ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป

จากมาตรการดังกล่าวสถานพยาบาลมีการสะท้อนปัญหา เช่น ไม่สามารถคัดแยกได้ว่ายาชนิดใดเป็นยาชื่อสามัญหรือยาต้นแบบ ยาชีววัตถุไม่มียาชื่อสามัญจะให้ถือปฏิบัติอย่างไร อัตราคิดกำไรส่วนเพิ่ม (0ark up) สำหรับยาต้นแบบที่ซื้อต่ำกว่าราคากลางจะสามารถปรับเพิ่มมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ และกรณีใช้ยาต้นแบบจะให้ผู้มีสิทธิร่วมจ่ายได้หรือไม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ โดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติให้สถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการเบิกจ่ายยาชื่อสามัญ และยาต้นแบบ หรือ ยาออริจินอล ของกรมบัญชีกลาง

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาของกรมบัญชีกลางเป็นการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล แต่ยังสามารถใช้ยาทุกตัวได้ตามเหตุผลทางการแพทย์ โดยจะมีผลบังคับใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกรมบัญชีกลางในการช่วยสถานพยาบาลปรับตัวกับระเบียบใหม่

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะดำเนินการจัดทำทะเบียนยาชื่อสามัญกับยาต้นแบบ รวมทั้งยาชีววัตถุให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2556 รวมทั้งสถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มในกรณีที่ใช้ยาออริจินอล และ ขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลในสังกัดอื่นไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้รับความเดือดร้อน เมื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวครบ 6 เดือน จะมีการประเมินผลกระทบทางการเงินของโรงพยาบาลอีกครั้ง

นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ผู้แทนเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) แสดงความเห็นว่า มาตรการเพื่อควบคุมค่ายาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ทาง กสพท. เป็นห่วง 2 เรื่อง คือ 1. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นยาสามัญหรือยาต้นแบบ แต่เราเป็นห่วงการเข้าถึง เพราะมาตรการนี้อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาบางตัว ต้องยอมรับว่ายาปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าในอดีตมาก บางรายการแยกไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นยาสามัญหรือยาต้นแบบ จึงต้องมีคำจำกัดความและแยกให้ชัดเจน แม้จะเป็นยาต้นแบบบางครั้งก็มีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีจำนวนหนึ่งถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมียาที่เป็นชีววัตถุที่ไม่มียาสามัญ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทาง กสพท.ขอเสนอให้มีการร่วมจ่ายค่ายา เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้โรงพยาบาลไม่นำยาบางรายการที่จำเป็นมาจำหน่าย ปล่อยให้ผู้ป่วยต้องจัดหากันเอง

มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล และจากมาตรการใหม่เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาที่กรมบัญชีกลางประกาศใช้ ทางโรงพยาบาลศิริราชได้คำนวณแล้วรายได้จะหายไป 300 ล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่ารายได้ที่จากการเบิกจ่ายยาสามัญในเกณฑ์การเบิกจ่ายใหม่นี้ จะได้กลับคืนมา เท่าไหร่

พล.ท.มาโนชญ์ จันทรศร ผู้แทนปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ผู้ป่วยของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 80-90% เป็นข้าราชการ ที่ผ่านมามาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของกรมบัญชีกลางได้ทำให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงยากับผู้ป่วยมาหลายระลอกแล้ว อย่างกรณีของยากลูโคซามีนที่ทำให้ผู้ป่วยต้องไปซื้อเองที่ร้านยา แต่ทำให้ยอดการเบิกจ่ายลดลง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ให้มีการร่วมจ่ายค่ายานั้น ผู้ป่วยในระบบข้าราชการต่างคุ้นเคยกับการร่วมจ่ายค่ารักษามาโดยตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่ค่าห้อง ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากมีการร่วมจ่ายค่ายาเชื่อว่าจะสามารถอธิบายกับผู้ป่วยได้ ทั้งนี้แม้ว่าทางกรมบัญชีกลางจะไม่มีการห้ามเบิกจ่ายยาต้นแบบ แต่การสั่งจ่ายยาต้นแบบแม้ไม่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน แต่ก็จะไม่มีกำไร

ขณะที่ นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผอ.สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า หากดำเนินการตามมาตรการนี้คาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เชื่อว่ายังมีส่วนหนึ่งยังต้องใช้ยาเหมือนเดิมอยู่ แต่การเปลี่ยนมาใช้ยาชื่อสามัญได้มีการสร้างแรงจูงใจโดยเพิ่มกำไรให้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านยาก็จะลดได้ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี แต่จะไปเพิ่มในหมวดอื่น

สิ่งที่ทำตอนนี้ไม่ใช่การลดค่าใช้จ่ายแต่พยายามจัดการให้มีประสิทธิภาพ เมื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยาลงแล้วไปปรับค่าใช้จ่ายหมวดอื่นที่ไม่ได้ปรับราคามาหลายปีให้สมเหตุสมผล เช่น ค่าอุดฟัน ถอนฟัน ราคาเบิกจ่ายตอนนี้ต่ำกว่าต้นทุน ค่าห้อง ค่าอาหาร เพราะปัจจุบันโครงสร้างราคาที่จ่ายให้สถานพยาบาลเบี่ยงเบน ไม่สมเหตุสมผล

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556