ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาชาติธุรกิจ - นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาคองเกรส ประเทศเม็กซิโก ได้ผ่านกฎหมายขึ้นภาษีอาหารขยะ หรือ Junk Food ซึ่งได้รวมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ให้ความหวานต่างๆ 1 เปโซต่อลิตร และขนมขบเคี้ยว เพิ่มอีกร้อยละ 8 โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ของประชากรในระยะยาว และมีผลการศึกษาว่า การดื่มเครื่องดื่มรสหวานมีความสัมพันธ์กับปริมาณการกินขนมขบเคี้ยวด้วย ส่วนของไทย พบว่ารัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน ซึ่งมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และพิการจากโรค กว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท จำเป็นต้องสร้างมาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันในระยะยาว การขึ้นภาษีอาหารขยะจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งสำคัญ

น.ส.สุลัดดา พงษ์อุทธา  นักวิจัยแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ  กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527  ที่รวมการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานหลายประเภทไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล ยังถือว่าถูกเก็บภาษีต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาล  บางประเภทถูกเก็บในอัตราต่ำกว่าอัตราเพดานมาก  หากรัฐต้องการป้องกันสุขภาพประชาชนและลดภาระค่าใช้ด้านสุขภาพ  สามารถกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บโดยใช้ระดับปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเป็นเกณฑ์ได้เพื่อทำให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมากและจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้มากกว่า ได้รับการจัดเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม

ทญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า  ปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั้งทางตรงและทางอ้อมของคนไทย ตั้งแต่ปี 2540-2552  มีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2540  มีปริมาณการบริโภครวม 1.7 ตัน แต่ปี 2552 บริโภค 1.97 เป็นต้น

ที่มา : นสพ.ข่าวสด

ที่มา: http://www.prachachat.net