ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - สทน.เผยก๊าซต้นเหตุก่อมะเร็งปอด รองจากบุหรี่ พบมากสุดที่ภาคใต้ แนะเปิดบ้านโล่ง อากาศถ่ายเท ถ้าไม่แน่ใจแจ้งให้ไปตรวจได้ ด้านกลุ่มอุตฯ หินแกรนิตและหินอ่อนแจงส่วนใหญ่ปนเปื้อน มากับหินนำเข้ามากกว่า

ความคืบหน้า กรณีที่ทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องก๊าซเรดอน กัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการสลายตัวของธาตุยูเรเนียม มีในหิน ดิน ทรายทั่วโลก โดยก๊าซเรดอนที่อยู่ในหิน ดิน ทรายนั้น จะสลายตัวปล่อย รังสีอัลฟ่าพลังงานสูงออกมาทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ อาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้นั้น

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายสมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า ข่าวที่ออกไปนั้น ไม่อยากให้ทุกคนตกใจ แต่อยากให้ทุกคนตระหนัก รวมทั้งมีความรอบคอบในการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างอาคารบ้านเรือน วัสดุแต่ละอย่างก็สามารถตรวจสอบได้ว่ามีแหล่งที่มาจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่ จะมี ก๊าซเรดอนอยู่หรือไม่ ในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นแหล่งเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม หากไม่วางใจก็สามารถมาปรึกษาได้ที่ สทน.จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินความเสี่ยง และเข้าไปตรวจสอบให้ได้ ติดต่อที่ 0-3739-2913 หรือ www.tint.or.th

"ก๊าซเรดอนเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีอายุยืนยาว ดีที่สุดคือการตรวจสอบวัสดุก่อนทำการก่อสร้าง ก่อนหน้านี้ หลายบริษัท เช่น หมู่บ้านจัดสรรก็ส่งตัวอย่างมาให้เราตรวจสอบ เพื่อไปการันตีให้ลูกค้าของเขาอีกต่อว่าใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐานปราศจากสารอันตรายใดๆ หรือหากก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่าวัสดุนี้มาจากแหล่งแร่ที่มีก๊าซเรดอนหรือไม่ แต่เอามาก่อสร้างแล้ว ก็ทำให้บ้านโล่งเข้าไว้ แต่บ้านเรือนในประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นบ้านที่เปิดโล่งอยู่แล้ว ไม่เหมือนต่างประเทศที่สร้างแบบทึบ" นาย สมพรกล่าว

น.ส.พชิรารัฐ โสลา นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ผู้ทำวิจัยเรื่องก๊าซเรดอน ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาทาง สทน.ได้ให้บริการและเก็บข้อมูลทำวิจัยในเรื่องก๊าซเรดอนนี้ โดยได้ออกไปตรวจวัดปริมาณก๊าซเรดอนตามสถานที่ต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สถานที่ราชการ และบ้านเรือน พบว่าในโรงงานอุตสาหกรรมมีปริมาณก๊าซเรดอนค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากตามกฎของโรงงานอุตสาหกรรม มีกำหนดเอาไว้ชัดเจน หากพบสารเคมีหรือสารรังสี และกัมมันตภาพรังสีใด เกินปริมาณที่มีผลกระทบต่อสุขภาพคนที่ทำงานจะต้องหาทางแก้ไข ดังนั้น ในโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีการติดตั้งเครื่องปรับและดูดอากาศเอาไว้ ทำให้มีอากาศถ่ายเท ไม่น่าเป็นห่วงนักน่าเป็นห่วงนัก

"ที่เราห่วงคือ ตามบ้านตึก บ้านปูน หรือ ตึกสูงที่ปิดทึบ โดยเปิดเครื่องปรับอากาศ หลายที่ปริมาณก๊าซเรดอนสูงมาก ไม่มีการหมุนเวียนออกไปไหน เพราะอากาศไม่ถ่ายเท บ้านไหนแม้ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ตรวจพบว่ามีการปล่อยปริมาณก๊าซเรดอนออกมามาก แต่มีอากาศถ่าย เทตลอดเวลาก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด" น.ส.พชิรารัฐกล่าว

เมื่อถามว่า สำหรับตึกหรือบ้าน ที่ตรวจพบว่าใช้วัสดุก่อสร้างที่มีการปล่อยปริมาณก๊าซเรดอนออกมานั้น ตามหลักการแล้ว ควรจะเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หรือใช้เครื่องดูดอากาศบ่อยแค่ไหนถึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพ น.ส.พชิรารัฐกล่าวว่า บอกไม่ได้ว่าต้องเปิดหน้าต่าง หรือใช้เครื่องดูดอากาศถี่บ่อยแค่ไหน แต่จะขอแนะนำว่าไม่ควรปล่อยให้บ้านทึบและมีกลิ่นอับ คือหากอยู่ในบ้าน ต้องทำให้อากาศถ่ายเทให้มากที่สุดย่อมดีที่สุดอยู่แล้ว

"เราเคยออกเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยร่วม กับหน่วยงานทางการแพทย์ เปรียบเทียบบ้านที่มีคนป่วยโรคมะเร็งปอดอยู่แล้ว กับบ้านที่ไม่มีคนป่วย พบว่าบ้านใดที่มีผู้ป่วย และยังตรวจพบปริมาณก๊าซเรดอนสูงด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ป่วย มีอาการทรุดหนักได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันเมื่อมีการเปรียบเทียบผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ และได้รับสารพิษ จากที่ต่างๆ กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลย และไม่มีปัจจัยเสี่ยงอะไรอื่น แต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอดด้วย จะมีการสันนิษฐานว่ามาจากการสูดเอาก๊าซเรดอนเข้าไป ทั้งนี้ มีการสรุปจากงานวิจัย และเป็นที่รับทราบกันในวงการแพทย์ว่าก๊าซเรดอนเป็นสาเหตุอันดับ 2 รองจากบุหรี่ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด" น.ส. พชิรารัฐกล่าว และว่า ปริมาณก๊าซเรดอนที่นักวิจัยไปเก็บข้อมูลและตรวจสอบนั้น พบว่ามีมากที่สุดในภาคใต้ เพราะเป็นแหล่งแร่ น้อยที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายชาญ จันถาวรสวัสดิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหินแกรนิตและหินอ่อน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับแหล่งหินในไทยคิดว่าไม่น่าจะมี ปัญหาเรื่องการปนเปื้อนตกค้างของสารกัมมันตภาพรังสี เนื่องจากไทยเป็นแหล่งที่ปัญหาเรื่องการปนเปื้อนตกค้างของสารกัมมันตภาพรังสี เนื่องจากไทยเป็นแหล่งที่ขาดแคลนธาตุกัมมันตภาพรังสี แต่ในบางแหล่งจากต่างประเทศที่มีการนำเข้ามา อาจจะมีตกค้างบ้าง

"ในต่างประเทศก็มีมาตรฐานกำหนดว่า ควรจะมีสารกัมมันตภาพรังสีเท่าไรจึงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มี 3 ระดับคือ ระดับเข้มงวดที่สุด ต้องมีกัมมันตภาพรังสีตกค้างต่ำที่สุดที่รับได้ คือ สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย เพราะต้องมีการสัมผัสอยู่ตลอดเวลา ระดับความเข้มงวดรองลงมา คือ ภายนอกอาคาร และอันดับสุดท้ายคือ อาคารและสถานที่สาธารณะ ในไทยยังไม่มี การกำหนดมาตรฐาน เมื่อเกิดข่าวแบบนี้ขึ้น จะทำให้เกิดความตื่นตัวและนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานที่เป็นของไทยเอง โดยอาจจะ อ้างอิงจากมาตรฐานของต่างประเทศ" นายชาญกล่าว

นายชาญกล่าวว่า สำหรับการบริโภคหินในประเทศไทยพบว่า ข้อมูลเบื้องต้นมีการบริโภคหินแกรนิตและหินอ่อนประมาณ 3-4 แสน ตร.ม.ต่อเดือน โดยเป็นการผลิตจากแหล่งในประเทศ 30% และนำเข้าจากต่างประเทศ 70% โดยใช้กับการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม เป็นต้น โดยการใช้หินทรายน้อยกว่าหินทั้งสองชนิดนี้ แต่หินทรายมีโอกาสที่จะพบการตกค้างของสารกัมมันตภาพรังสีมากกว่าเนื่องจากการ เกิดสารกัมมันตภาพรังสีจะต้องมีการพัดพาและสะสม

นายชาญกล่าวว่า ส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่อาจเกิดขึ้นขณะนี้เมื่อมีข่าวออกมา คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อาจส่งผล กระทบต่อผู้ประกอบการได้ หากลูกค้าชะลอการตัดสินใจหรือเปลี่ยนใจที่จะไม่ซื้อ อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าไม่มีความมั่นใจอาจจะเปลี่ยนไปใช้หินแกรนิตหรือหินอ่อนเทียมได้

นายฉดับ ปัทมสูต ประธานกรรมการสภาเหมืองแร่ กล่าวว่า ปัจจุบันสภามีผู้ประกอบ การที่เป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับหินประมาณ 30-40 ราย โดยแหล่งหินในไทยที่มีอยู่คาดว่าจะมีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเจือจางมาก หรือแทบจะไม่มีเลย แต่หากเป็นการนำเข้าจากแหล่งต่างประเทศอาจจะมีการปนเปื้อนเข้ามาได้ เพราะหินที่มาจากแหล่งต่างกันก็จะมีสีต่าง กัน บางครั้งทำให้อาจมีความนิยมหินจากแหล่งต่างประเทศมากกว่า โดยแหล่งหินหลักๆ ของไทย หินแกรนิตอยู่ที่สระบุรี หินอ่อนอยู่ที่ฟาก จ.ตาก ส่วนหินทรายจะเป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทางภาคใต้

"การตรวจสอบแหล่งแร่จะมีการใช้เครื่องมือตรวจสอบแหล่งนั้นๆ อยู่แล้ว หากมีสารกัมมันตภาพรังสีก็จะตรวจพบแน่นอน หากมีและพบว่ามีปริมาณไม่เหมาะสมก็ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจสอบพบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีข่าวนี้เกิดขึ้นนักธรณีวิทยาและผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะเข้าไปตรวจสอบตามแหล่งต่างๆ" นายฉดับกล่าว

ทั้งนี้ นายฉดับกล่าวว่า เมื่อมีข่าวลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น โดยมีการอ้างอิงตัวเลขของสหรัฐ ผู้บริโภคอาจจะหันมาบริโภคหินในประเทศแทนการบริโภคหินนำเข้า  จะส่งผลบวกต่อตลาดหินในประเทศ

นายปรีชา เรืองมาศ นายกสมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย ในฐานะรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหินแกรนิตและหินอ่อน ส.อ.ท. กล่าวว่า วันที่ 13 ธันวาคมนี้ ทางสมาคมจะประชุม โดยคาดว่าจะนำวาระเรื่องเกี่ยวกับก๊าซเรดอนเข้าที่ประชุมด้วย และจะรวบรวมตัวอย่างหินแกรนิตที่ใช้ในไทยประมาณ 30-40 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศให้ สทน.ตรวจสอบ รวมถึงจะเชิญวิทยากรมาบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ สถาปนิกและผู้บริโภคด้วย

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 8 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--