ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สภาพอากาศของประเทศไทยที่ หนาวเย็นลง โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะหนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ กลุ่มประชาชนที่น่าห่วงคือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหอบหืด  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีภูมิต้านทานต่ำ อยู่แล้ว และมีแนวโน้มเสียชีวิตจากภัยหนาวสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัว กระทรวงสาธารณสุขได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้ความรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตัว และให้การติดตามดูแลสุขภาพเป็นกรณีพิเศษ

โดยปกติผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต้องดูแลตนเองใน 3 เรื่องสำคัญคือ อาหาร การออกกำลังกาย และกินยา ควบคุมอาการอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงฤดูหนาว ผู้ที่เป็นโรคประจำตัวโดยเฉพาะ 3 โรคดังต่อไปนี้คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 6 ล้านคน ต้องเพิ่มการดูแลตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่ออากาศหนาวเย็น ความชื้นในอากาศลดลง ผิวหนังจะแห้งและคัน เมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังอักเสบง่าย  โดยในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมื่ออากาศเย็นลงระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าอุณหภูมิที่ลดลงจะเพิ่มความเครียดต่อร่างกาย  มีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะเลือดมีความหนืดขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน (Heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2

ทั้งนี้ ในการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาว ขอให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่น โดยการสวมหมวกไหมพรม เสื้อคลุมกันหนาว ใส่ถุงมือถุงเท้า และรองเท้าที่ใส่สบาย ควรทาผิวด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์วันละหลายๆครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและผิวแห้ง ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีคนแออัด การระบายอากาศไม่ดี  2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่รสไม่จัด หลีกเลี่ยงขนมหวาน อาหารไขมันสูง เลือกอาหารปรุงสุกแล้ว  รวมทั้งธัญพืช ผัก ผลไม้สดที่หวานน้อย ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพื่อแก้หนาวเพราะไม่สามารถช่วยได้  3.ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ สามารถออกกำลังกายในที่ร่ม เช่น โยคะ เต้นแอโรบิก หรือในที่กลางแจ้งในช่วงที่ไม่มีแดดจัดและไม่มีลมพัดแรง สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็วหรือยืดเหยียดร่างกาย 4.หมั่นตรวจเช็คค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม  5.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 6.พักผ่อนให้เพียงพอ โดยสวมใส่ชุดนอนที่อบอุ่นและห่มผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า