ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ พบผู้มีภาวะกระดูกร้าวอันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนพุ่งขึ้นสูงมาก กลุ่มผู้สูงอายุวัย 70 ปีขึ้นไปมีอัตราการเกิดโรคพุ่งสูงถึง 230% และวัย 50 ปีขึ้นไปมีอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้น 144% อัตราการเกิดภาวะกระดูกร้าวที่สะโพกอาจเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าตัวภายในปี 2593 ดังนั้น แม้ว่า ประชากรอาจมีอายุยืนยาวขึ้น แต่สุขภาพกล้ามเนื้อ และกระดูก จะเป็นต้นเหตุร้ายแรงที่นำไปสู่ความพิการ  ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ต้นทุนด้านสังคมตามหลักเศรษฐศาสตร์ (Socio-economic) ก็จะพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย เว้นแต่จะมีการส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ

ภาวะกระดูกสะโพกร้าว ซึ่งมักจะเกิดในผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป เป็นอาการกระดูกร้าวจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งค่ารักษาพยาบาลสูง และมีความรุนแรงมากที่สุด ประเทศส่วนมากในเอเชียมีผู้ป่วยด้วยภาวะกระดูกสะโพกร้าวเพิ่มขึ้นแล้ว 2-3 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจส่งผลให้มีอัตราการเกิดภาวะกระดูกสะโพกร้าวในเอเชียเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากทั้งหมดทั่วโลกภายในปี 2593 ณ เวลานั้น ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีก็จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จะมีผู้สูงวัยที่อายุ 70 ปี หรือมากกว่า เกือบ 430 ล้านคนภายในปี 2593

นอกเหนือไปจากการรักษาที่มีต้นทุนสูงแล้ว ผู้ป่วยประมาณ 33% จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงปีหลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วย 1 ใน 5 รายจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนเมืองในเอเชียแปซิฟิกยังได้รับผลกระทบจากอัตราผู้ป่วยโรคกระดูกร้าว ซึ่งในสภาวะชุมชนเมืองมีอัตราการเกิดโรคสูงกว่า เนื่องจากผู้ป่วยมักจะใช้ชีวิตภายในอาคาร และนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ไปจนถึงผู้ที่ขาดวิตามินดี และมีสุขภาพกล้ามเนื้อ และกระดูกที่ไม่แข็งแรง

ระบบการดูแลสุขภาพจะสามารถรับมือกับความต้องการในการดูแลรักษาโรคกระดูกสะโพกร้าวในทันที และระยะยาวได้หรือไม่นั้น ผู้ป่วยโรคกระดูกร้าวที่สะโพกต้องได้รับการผ่าตัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างทันท่วงที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ ในประเทศด้อยพัฒนาในเอเชีย อาจจะไม่มีความพร้อม หรือเงินทุนด้านการดูแลรักษาและการผ่าตัด ในประเทศอย่างเวียดนาม ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน มีผู้ป่วยโรคกระดูกสะโพกร้าวต่ำกว่า 50% ที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องทุ่มเงินหมดทั้งกระเป๋าเพื่อการผ่าตัดอาจต้องเผชิญกับความขัดสน ไม่เช่นนั้น ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดก็จะทุพพลภาพอย่างรุนแรง

ศาสตราจารย์จอห์น เอ คานิส (Prof. John A. Kanis) ประธาน IOF กล่าวว่า "ผู้หญิง 1 ใน 3 และผู้ชาย 1 ใน 5 ที่มีอายุ 50 ปีทั่วโลก จะเกิดภาวะกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน ดังนั้นการวินิฉัย และการรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญมาก IOF เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วเอเชียยกระดับความพยายามในด้านการป้องกัน โรคกระดูกพรุน และโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ และโครงกระดูกควรจะเป็นวาระสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพแห่งชาติ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายงานของ IOF ได้เรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ:

1) ระบุระดับประชากรที่ขาดวิตามินดี และมีแคลเซียมต่ำ

2) ส่งเสริมมาตรการป้องกันในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ กิจกรรมด้านกายภาพกลางแจ้ง และการเลิกบุหรี่

3) สนับสนุนการรักษาที่สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เป็นโรคกระดูกพรุนสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกร้าวได้

4) ให้บริการด้านการวินิจฉัยโรคอย่างเพียงพอ และเข้าถึงได้ง่าย

5) จัดหาทรัพยากรเพื่อพัฒนาการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกพรุน

6) จัดให้มีแผนกโรคกระดูกร้าวในคลินิกต่างๆ เพื่อช่วยวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วย

7) ส่งเสริมการวิจัย และการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคกระดูกร้าว เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาระดับชาติที่เหมาะสม

8) กระตุ้นให้สาธารณะชนตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย และโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรวัยรุ่น

ที่มา : AsiaNet Press Release วันที่ 12 ธ.ค. 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง