ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เร่งพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้มีทั้งคุณภาพ การรักษาและการให้บริการ และจัดทำทางด่วนรับ-ส่งผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แบบไร้รอยต่อ นำร่อง 21 จังหวัดภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 56 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย ให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพดี เร่งพัฒนาคุณภาพระบบบริการในโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้มีทั้งคุณภาพการดูแลรักษา (Quality of Care) และคุณภาพการให้บริการ (Quality of Service) โดยแบ่งเป็นเขตบริการสุขภาพ 12 เขต เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

นายแพทย์วชิระ กล่าวว่า ด้านคุณภาพการดูแลรักษา ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ตามแผนแม่บทพัฒนาศักยภาพบริการ ที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา ได้แก่ อุบัติเหตุ, หัวใจและหลอดเลือดสมอง, ทารกแรกเกิด, มะเร็ง, 5 สาขาหลัก (สูติ, ศัลย์, อายุรกรรม, เด็ก, ออร์โธปิดิกส์) ตาและไต, ปฐมภูมิฯ, โรคเรื้อรัง, จิตเวช และทันตกรรม มีการพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย และมีเครือข่ายสุขภาพที่เชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิกับชุมชนและท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพ ส่วนด้านคุณภาพการให้บริการ จะดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็น ลดระยะเวลารอคอยและลดความแออัด เช่น โครงการบริการใกล้บ้าน เวลาประชาชน เป็นต้น

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต เร่งพัฒนาคุณภาพระบบบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา โดยจัดทำโครงการ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ประชาชนสัมผัสได้ว่ามีประโยชน์จริงๆ ได้จัดสรรงบประมาณให้เขตฯละ 10 ล้านบาท เน้นการจัดบริการร่วม เช่น โครงการ "ไร้รอยต่อพัฒนาระบบรับ–ส่งต่อผู้ป่วยและรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีอัตราการตายสูงอย่างมืออาชีพ" ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Motorway Fast Track on Trauma/ Stroke / Stemi / Head injury / Newborn and High Risk Pregnancy) ของเขตบริการสุขภาพ 7, 8, 9 และ 10

สำหรับโครงการไร้รอยต่อพัฒนาระบบรับ–ส่งต่อผู้ป่วยและการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ในกลุ่มโรคที่มีอัตราการตายสูงฯ ประชาชนจะเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและได้รับการดูแลอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน อัตราตายลดลง ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่นจัดทำขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อภายใน 4 เขตบริการสุขภาพ 21 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก และมีผู้ป่วยกลุ่มโรคสำคัญๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เช่น ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่บาดเจ็บที่ศีรษะ ทารกแรกเกิด และหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเป็นความร่วมมือของสถานบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ จนถึงระดับตติยภูมิ เป็นเครือข่ายที่ไร้รอยต่อ มีการจัดตั้งศูนย์รับส่งต่อ มีบุคลากรรับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการรับ-ส่งต่อที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการ