ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุยืนยาวอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากการลงทุนทุ่มเทให้แก่งานรักษาพยาบาลโดยสามารถจัดระบบการดูแลที่มีคุณภาพสูง ทั่วถึง ราคาไม่แพง และไร้ข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ แล้วญี่ปุ่นยังลงทุนมากในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย ในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ผู้เขียนและคณะมีโอกาสไปดูงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของเทศบาลเมืองคิซาระสุ ซึ่งในปี 2556 มีประชากร 130,637 คน เป็นเมืองของ "ผู้สูงวัย" อย่างแท้จริง เพราะมีประชากรอายุ65 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 23.1

สาเหตุการตายของประชากรเมืองนี้ในปี2555 อันดับหนึ่งคือมะเร็ง (312 คน) รองลงมาคือโรคหัวใจ (230 คน) ถัดลงไปคือปอดบวม(118 คน) และโรคหลอดเลือดสมอง (109 คน) ส่วนอุบัติเหตุนับว่าต่ำมาก (40 คน)ฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง (32 คน) ขณะที่ตายจากไตล้มเหลวก็ต่ำ (24 คน)

เมืองคิซาระสุมีการจัดบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยหน่วยงานซึ่งมีเจ้าหน้าที่รวม27 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค 20 คน คือพยาบาลสาธารณสุข 15 คน พยาบาลวิชาชีพ1 คน นักโภชนาการ 2 คน ทันตาภิบาล 2 คน ที่เหลือคือเจ้าหน้าที่สนับสนุน

งานแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ งานอนามัยแม่และเด็ก และงานอนามัยผู้ใหญ่ งานอนามัยแม่และเด็กแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่1.การตรวจสุขภาพ หญิงตั้งครรภ์ ทารก เด็กอายุ 18 เดือน และ 3 ปี 2.งานสุขศึกษา มีการจัดให้สุขศึกษาเป็นกลุ่มแก่พ่อแม่ การให้สุขศึกษาแก่เด็กวัยหนึ่งขวบ การสอนวิธีการเคี้ยวอาหาร การดูแลรักษาฟัน การดูแลช่องปากในสถานดูแลเด็กอ่อน-โรงเรียนอนุบาล-โรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยมต้น 3.งานให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ มีงานสอนให้เด็กร่าเริงเรียกว่า โครงการ "นิโกะ-นิโกะ" (แปลว่ายิ้ม-ยิ้ม) และงานให้คำปรึกษาแก่เด็ก 4.งานเยี่ยมบ้าน มีการเยี่ยมบ้านให้คำแนะนำสำหรับเด็กเกิดใหม่และหญิงตั้งครรภ์ และมีการเยี่ยมบ้านทารกที่คลอดก่อนกำหนด

งานอนามัยผู้ใหญ่ ได้แก่ 1.การจัดทำคู่มือสุขภาพ 2.การตรวจสุขภาพแก่เยาวชน บุคคลที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ การตรวจฟันในผู้ใหญ่และการตรวจร่างกายแก่ผู้มีโรคตับอักเสบ3.งานสุขศึกษา มีงานสุขศึกษากลุ่มเพื่อต่อต้านกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) โดยเฉพาะโรคอ้วน การส่งเสริมการเดินออกกำลังกาย และการสุขศึกษากลุ่มเรื่องสุขภาพจิต4.งานให้คำปรึกษาทั่วไป และการให้คำปรึกษาหลังตรวจสุขภาพ เช่น สอนวิธีการอ่านผลการตรวจเลือด เป็นต้น 5.งานเยี่ยมบ้าน

ทางด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ญี่ปุ่นให้วัคซีนแก่ประชาชนรวม 12 ชนิด ได้แก่ วัคซีนที่เหมือนกับประเทศไทย 9 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัดหัดเยอรมัน คางทูม วัณโรค และไข้หวัดใหญ่และยังให้วัคซีนอีก 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมในเด็ก ปอดบวมจากเชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนซา และวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ป้องกันปอดบวมในผู้สูงอายุ

ญี่ปุ่นมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 5 ชนิดได้แก่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม และโดยที่มีคนสูงอายุมาก ญี่ปุ่นจึงมีการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วย

เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูเด็กนอกจากการรับฝากครรภ์มารดาแล้ว ยังมีการให้การศึกษาแก่พ่อแม่เด็ก โดยให้พ่อมีประสบการณ์คล้ายการตั้งครรภ์ คือให้ทดลอง"อุ้มท้อง" และสอนพ่อให้อาบน้ำลูกด้วย

การให้สุขศึกษาในชุมชน มีการจัดให้มีงานสุขศึกษาในตลาดสดชุมชน ศูนย์ชุมชน(Community Center) การตรวจคัดกรองมะเร็งจะมีการจัดรถเคลื่อนที่ไปให้บริการในชุมชน

เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เทศบาลเมืองนี้ได้ลงทุนสร้างโรงยิมตั้งชื่อว่า"อิคิ-อิคิ" แปลว่า "ร่าเริง-ร่าเริง"ภายในมีสระว่ายน้ำ อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์ตรวจร่างกาย เช่น เครื่องวัดชีพจรความดันโลหิต เครื่องชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง มีครูฝึกคอยให้คำแนะนำ หรือจัดฝึกเป็นกลุ่มเช่น สอนโยคะ สอนท่าแอโรบิกในสระน้ำ โรงยิมแห่งนี้มีคนมาใช้บริการวันละ 400-600 คน โดยคิดค่าบริการในอัตราต่ำ

เพื่อลดโรคกลุ่มเมตาบอลิกและโรคจาก"ลีลาชีวิต" (Lifestyle Diseases) มีการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพเช่น การกินอาหาร การตรวจร่างกายเป็นประจำ นอกจากการตรวจร่างกายโดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบพุง คำนวณค่าดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต ยังมีตรวจปัสสาวะตรวจเลือดดูระดับไขมัน น้ำตาล การทำงานของตับ ไต นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ลดการบริโภคเกลือ เพื่อลดภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง

ญี่ปุ่นจึงมุ่งให้ประชาชนทั้ง "สร้าง" สุขภาพเพื่อให้มีสุขภาพดีเจ็บป่วยน้อย เมื่อเจ็บป่วยก็ดูแลเรื่อง"การซ่อมสุขภาพ" อย่างดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 มกราคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง