ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เด็กไทยมีสัดส่วนไม่ได้มาตรฐานเพียบถึง 1.2 ล้านคน สาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ นักวิชาการชี้คุณภาพอาหารไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยเรื่องราคาอย่างเดียว ยังรวมถึงการมีนักโภชนาการในสถานศึกษา การจัดบริการอาหารได้มาตรฐาน มีครัวกลางด้วย 
       
วันนี้ (7 ก.พ.) พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บทบาท อปท.ต่อการพัฒนาคุณภาพอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ว่า จากการประเมินผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนของกรมอนามัยในปี 2553-2554 จำนวน 253 แห่ง พบว่า การบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวยังมีปัญหาทั้งด้านคุณภาพ และประสิทธิภาพ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2554 พบว่า เด็กไทยสัดส่วนไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 1.2 ล้านคน จำแนกเป็นน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 223,288 คน น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 590,087 คน และส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 258,149 คน สาเหตุสำคัญเกิดจากเด็กมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งการจัดการอาหารในโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่เด็กไทย โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสติปัญญา และการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพตามวัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการเพิ่มค่าอาหารกลางวันจาก 13 บาทต่อคนต่อวัน เป็นอัตรา 20 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กกินอิ่มอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ
       
พญ.แสงโสม กล่าวว่า จากบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า คุณภาพอาหารไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยของราคาอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึง 1.การมีนักโภชนาการประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหาร ครู แม่ครัว แม่ค้า แกนนำนักเรียน และผู้ปกครองได้รับการอบรมหลักสูตรการจัดการอาหารและโภชนาการต่อเนื่อง 2.การจัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการ สำหรับใช้ในการจ้างเหมาบริการอาหาร จะช่วยควบคุมคุณภาพอาหาร และราคาที่เหมาะสม 3.การบริหารจัดการแบบครัวกลางที่เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ทำให้ควบคุมคุณภาพอาหารตามมาตรฐานโภชนาการ และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 4.การส่งเสริมครอบครัว/ชุมชนปลูกผัก อย่างน้อย 1 ครัวเรือน 5 ชนิดผัก จำหน่ายให้แก่โครงการอาหารกลางวัน โดยมีการจัดทำเมนูอาหารหมุนเวียนอย่างน้อย 1 เดือนที่สอดคล้องกับทะเบียนผักผลไม้ของกลุ่มเกษตรกรในชุมชน นอกจากจะช่วยลดต้นทุน และส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยให้แก่เด็กและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน 5.ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม และอำนาจในการตัดสินใจ และร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบคุณภาพอาหารจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาที่เร็วขึ้น และ 6.กลไกสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการอย่างยั่งยืน คือ (ก) การบรรจุงานอาหารและโภชนาการเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น (ข) การมีระบบควบคุม กำกับ และประเมินผลการจัดการคุณภาพอาหาร และเฝ้าระวังภาวะโภชนาการนักเรียน โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ปีละ 2 ครั้ง สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการแก้ไขปัญหาโดยมีการติดตามเดือนละครั้ง และ (ค) การมีมาตรการทางสังคมด้านอาหาร และโภชนาการที่นำไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่องจะส่งผลให้เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ได้ง่าย
       
“ทั้งนี้ การจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการผลักดันนโยบายตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 เรื่องการตั้งงบประมาณโครงการอาหารกลางวันตามภาวะเศรษฐกิจ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 24,775,999,200 บาท ส่งผลให้นักเรียนได้รับประโยชน์ จำนวน 5,800,469 คน  และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม กำกับ และประเมินคุณภาพอาหาร และโภชนาการ นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียนพิจารณาเสนอปรับอัตราค่าอาหารกลางวันทุกปี ให้สอดคล้องกับราคาสินค้า และภาวะเศรษฐกิจ โดยให้คำนึงถึงปริมาณ และคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ” พญ.แสงโสม กล่าว