ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เด็กไทยไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แถมอีคิวมีแนวโน้มลดลง ส่วนเด็กเล็ก 11% เป็นโรคขาดสารไอโอดีน ส่วนเด็กปฐมวัยเผชิญปัญหาโลหิตจาง เผยเกินครึ่งมาจากการขาดธาตุหล็ก กรมสุขภาพจิตจับมือกรมอนามัย เตรียมสำรวจเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ ดู "ไอคิว-อีคิว-ไอโอดีน-โลหิตจาง" หวังใช้พัฒนาศักยภาพเด็กไทย
       
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการเสวนา "สถานการณ์และการสำรวจระดับสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะขาดไอโอดีน และภาวะโลหิตจางในเด็กไทยปี 2557" ว่า จากการสำรวจระดับสติปัญญา (ไอคิว) นักเรียนไทยทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 พบไอคิวเฉลี่ย 98.59 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลคือ 100 โดยมีเด็กไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 48.5% เป็นเด็กสติปัญญาบกพร่องหรือไอคิวต่ำกว่า 70 อยู่ถึง 6.5% สูงกว่ามาตรฐานสากลที่ไม่ควรเกิน 2% ขณะที่การสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) เด็กไทยวัย 3-5 ปี เมื่อปี 2545 พบว่า มีเกณฑ์ปกติ 139-202 คะแนน และลดลงเป็น 125-198 คะแนน ในปี 2550 ด้านที่ลดลง คือ การปรับตัวต่อปัญหาและความกระตือรือร้น ส่วนเด็กวัย 6-11 ปี สำรวจเมื่อปี 2545 มีเกณฑ์ปกติ 148-225 คะแนน แต่ลดลงเป็น 129-218 คะแนน ในปี 2550 ด้านที่ลด คือ ความมุ่งมั่นพยายาม

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นักเรียนไทยยังพบปัญหาโภชนาการคือ โรคขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อระดับสติปัญญาและสุขภาพ ล่าสุด จากการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย เมื่อปี 2556 พบเด็กร้อยละ 11.1 เป็นโรคขาดสารไอโอดีน โดยมีปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2546 พบความชุกโรคโลหิตจางกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุ 6 เดือน - 5 ปี ร้อยละ 25.9 กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ร้อยละ 46.7 อายุ 9-11 ปี ร้อยละ 25.4 และ อายุ 12-14 ปี ร้อยละ 15.7 ซึ่งสาเหตุเกินครึ่งมาจากการขาดธาตุเหล็ก

"กรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยเตรียมร่วมมือสำรวจ ไอคิว อีคิว ภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางของเด็กไทย ปี 2557 โดยจะสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นตัวแทนในระดับเขตบริการสาธารณสุข ประมาณ 5,721-6,005 คน พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่าง ก.ค.-ส.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์ไอคิวและอีคิวในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อวางแผนส่งเสริมและพัฒนาไอคิว อีคิวเด็กไทย ให้มีศักยภาพแข่งขันกับนานาประเทศได้ ทั้งนี้ ในช่วงตั้งครรภ์มารดาควรกินไอโอดีน และหลังเด็กคลอด 3 เดือนควรดูแลให้เด็กกินอาหารครบตามหลักโภชนาการ" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อไอคิว ได้แก่ 1.ไอโอดีน เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน ในการพัฒนาสมองและระบบการทำงานของร่างกาย โรคขาดสารไอโอดีนจึงเป็นต้นเหตุของภาวะปัญญาอ่อน เพราะสมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ระดับสติปัญญาลดลง และ 2.ธาตุเหล็ก ซึ่งจะสะสมในสมองตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงวัยผู้ใหญ่ มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ โดยภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกแรกเกิด - 2 ปี จะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้อย่างถาวร เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เท่ากับเด็กปกติ แต่หากเกิดเพียงระยะสั้นๆ จะสามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ทั้งนี้ การเสริมไอโอดีนทำได้ด้วยการกินเครื่องปรุงรสที่มีการเสริมไอโอดีน เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือกินอาหารทะเล ส่วนธาตุเหล็กมีโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยจะเสริมธาตุเหล็กให้นักเรียนสัปดาห์ละ 1 เม็ด