ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยรัฐ - สธ.เผย ขณะนี้แม่ค้าหันมาใช้สารต้องห้าม คือ “น้ำยาดองศพ” ใส่ในเห็ดฟาง-นางฟ้า-เห็ดหอมสด-ผัก-ขิงซอย-กระชายตรวจพบที่ตลาดสด-ตลาดนัด รวม 5 แห่ง ในนครสวรรค์ เฉลี่ยพบสูงเกือบร้อยละ 25 บางแห่ง ตรวจพบเกือบร้อยละ 60ชี้ภัยน้ำยานี้อันตรายทั้งพ่อค้าแม่ค้า ประชาชน ถึงขั้นเสียชีวิต...

นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายควบคุมความปลอดภัยอาหารบริโภคซึ่งอาหารเป็นปัจจัย 4 จำเป็นของการสร้างสุขภาพดีและทำลายสุขภาพประชาชนไปพร้อมๆ กัน หากมีสารอันตราย หรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน เนื่องจากขณะนี้พบว่า ประชาชนป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับ 1ทั้งนี้ สาเหตุของโรคดังกล่าวเกิดมาจากการบริโภคอาหาร และการเสียชีวิตยังไม่มีวี่แววจะลดลง ซึ่งโรคนี้ใช้เวลาก่อตัวนานหลายปี กว่าจะปรากฏอาการผู้ที่เป็นมักไม่ค่อยรู้ตัวโดยกระทรวงจะดูแลทั้งอาหารนำเข้า อาหารที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ สุ่มตรวจเฝ้าระวังอาหารอย่างต่อเนื่องเน้นสารอันตรายที่เป็นปัญหา มักมีการลักลอบใส่ในอาหารสด 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารกันรา สารฟอร์มาลิน (Formalin) และสารเร่งเนื้อแดง พร้อมทั้งให้ควบคุมมาตรฐานความสะอาดแหล่งจำหน่ายอาหาร ทั้งตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารแผงลอย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชนนอกจากนี้ ยังได้รับรายงานผลการสุ่มตรวจประเมินอาหารปลอดภัยของกรมอนามัย ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2557 ในตลาดที่ จ.นครสวรรค์ 5 แห่ง ที่ อ.เมือง อ.ท่าตะโก และ อ.ชุมแสง ประกอบด้วยตลาดสด 2 แห่ง และตลาดนัด อีก 3 แห่ง โดยเก็บอาหารตรวจทั้งหมด 275 ตัวอย่างผลการตรวจไม่พบมีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์และสารฟอกขาว แต่ที่น่าตกใจ คือ พบการใช้สารฟอร์มาลิน หรือน้ำยาฉีดศพ น้ำยาดองศพ มาใช้กับอาหารสดเพื่อไม่ให้เน่าเสียง่ายโดย 5 ตลาด ตรวจพบ 102 ตัวอย่างเฉลี่ยร้อยละ 25 บางแห่ง เช่น ในตลาดสดขนาดใหญ่ในเมือง พบร้อยละ 59อาหารที่ตรวจพบ ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก ปลาหมึกกรอบ ขิงหั่นฝอย กระชายหั่นฝอย เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด ถั่วฝักยาว สไบนางจึงถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เป็นการใช้สารฟอร์มาลินผิดวัตถุประสงค์ และห้ามใช้ในอาหารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากสารชนิดนี้มีอันตรายสูง เป็นสารก่อมะเร็ง สารชนิดนี้เป็นอันตรายทั้งคนใช้แม่ค้า และผู้บริโภค จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวด จริงจัง และให้สาวถึงแหล่งต้นตอให้ได้ เพื่อลงโทษให้เด็ดขาด

ทางด้าน นพ.พรเทพศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารกลุ่มที่ตรวจพบใส่ฟอร์มาลินที่กล่าวมานี้ที่ผ่านมามักจะตรวจพบสารฟอกขาวการพบสารฟอร์มาลินสูงขึ้น อาจเป็นเพราะพ่อค้าแม่ค้า อาจจะเปลี่ยนจากการใช้สารฟอกขาวใส่อาหาร เพื่อให้คงสภาพสด ไม่หมองคล้ำ หรือไม่เน่าเสีย มาเป็นการใช้สารฟอร์มาลินแทน สารฟอร์มาลินมีอันตรายต่อผู้บริโภค จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารหากรับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก กดประสาทส่วนกลาง ทำให้หมดสติได้กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศ ฉบับที่ 93 พ.ศ. 2528 ห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใดละเมิดใส่ในอาหาร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับฐานผลิตอาหารที่ไม่บริสุทธิ์นพ.พรเทพกล่าวต่อว่าต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการตลาดสด ตลาดนัด ให้เข้มงวดความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายในตลาดเพื่อร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรจะมีการสอบย้อนไปจนถึงแหล่งค้าส่งและแหล่งปลูกว่า จะมีการนำสารฟอร์มาลินมาใส่ในขั้นตอนไหน โดยต้องทำงานแบบประสานกันทุกหน่วย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการเกษตร เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารความรู้ อันตราย และสถานการณ์การปนเปื้อนให้แก่ผู้ค้าขาย รวมถึงประชาชนผู้บริโภค เพื่อสร้างความตระหนัก ความรับผิดชอบ และความร่วมมือในการเฝ้าระวังสารปนเปื้อนสำหรับสารฟอร์มาลิน หรือฟอร์มัลดีไฮด์ มีลักษณะเป็นน้ำใส กลิ่นฉุน ระเหยง่ายหากได้รับในปริมาณที่สูง หรือมีความเข้มข้นมาก สารชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตายได้โดยฟอร์มัลดีไฮด์ มีพิษต่อระบบต่างๆ เกือบทั่วทั้งร่างกายคือต่อระบบทางเดินหายใจ หากได้รับ รูปของไอระเหย แม้จะปริมาณต่ำๆ ถ้าถูกตาจะระคายเคืองตามาก ทำให้เป็นแผล ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้นแม่ค้าพ่อค้าที่จำหน่ายอาหารที่แช่ฟอร์มาลินก็จะมีสิทธ์สูดดมไอ ระเหยของฟอร์มาลินออกจากน้ำที่แช่ได้ตลอดเวลา และสูดเข้าโดยตรงด้วย เป็นอันตรายต่อตัวเองอย่างไรก็ตาม หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มัลดีไฮด์ในปริมาณมาก จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผลและยังพบว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งด้วย นอกจากนี้ ยังมีผลต่อผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เป็นสีขาวได้หากสัมผัสโดยตรงพร้อมกันนี้ วิธีสังเกตว่า ผักที่ซื้อมามีฟอร์มาลินหรือไม่นั้น ควรดมที่ใบ หรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นฉุนแสบจมูกก็ไม่ควรซื้อหรือสังเกตดูผักที่วางขายว่าสด ใบงาม เกินความเป็นจริง ไม่มีรูพรุนจากการกัดของแมลงเลย ตั้งขายไว้เป็นวันๆ ยังไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อ เพราะอาจมีฟอร์มาลินและสารพิษฆ่าแมลงที่ยังไม่หมดฤทธิ์สะสมอยู่ด้วยในกรณีที่ซื้อมาแล้วยังไม่แน่ในว่าอาจมีฟอร์มาลินติดมาอีก ก็ควรนำผักมาล้างน้ำไหล 5-10 นาที หรือแช่น้ำนิ่งราว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่า ฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมด"ส่วนการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ตลอดจนปลา ต้องสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลินวางขายในตลาดสด ถ้าถูกแดดถูกลมนานๆ เนื้อแดงๆ นั้นจะเหี่ยว หรือถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรจะซื้อมาบริโภคและในการบริโภคทุกครั้ง ต้องทำอาหารทุกชนิดให้สุกด้วยความร้อน เนื่องจากความร้อน จะทำลายฟอร์มาลินได้" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว.

ที่มา: http://www.thairath.co.th