ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - ถ้าความหมายของคำว่า ปฏิรูป หมายถึง การปรับปรุงให้สมควรเหมาะสมแล้ว การปฏิรูประบบการเรียกเก็บเงินค่าหมอ ค่ายา อันรวมถึงค่าห้องและค่าอื่นๆ ในโรงพยาบาลเอกชน คือ นโยบายที่รัฐควรจะจริงจังและจริงใจ กับประเด็นปัญหาค่ายา ค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาล ที่แพงอย่างโหดร้ายกับชาวบ้านเสียที เพราะเป็นเรื่องสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมเลือกที่จะเจาะจงเฉพาะ โรงพยาบาลเอกชน คำตอบก็เพราะปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าห้องที่แพงเกิน เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลของรัฐ นั่นเอง

หลายท่านที่กำลังหลงอยู่ในห้วงเหวของการปฏิรูปการเมืองไทย อยากให้หยุดพักเรื่องการเมือง หันมาเหลียวหลังถึงปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งหลายเรื่องก็ต้องการการปฏิรูป และหนึ่งในเรื่องราวเหล่านั้นก็คือ การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล อันได้แก่ ค่าหมอ ค่ายา ค่าห้อง และค่าอื่นๆ ในโรงพยาบาลเอกชน อย่างเป็นจริงเป็นจัง

การเจ็บป่วย เป็นไข้ ของมนุษย์ เป็นธรรมดาของชีวิตที่ปุถุชนแต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าบริการของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งก็อาจถือได้ว่าเป็นบริการสาธารณะ มีอย่างทั่วถึงและเข้าถึงได้อย่างสะดวก ความจำเป็นของชาวบ้าน ประชาชนที่รายได้ไม่มาก ที่จำต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนก็คงไม่มี แต่เมื่อเกิดเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนป่วย และข้อจำกัดของโรงพยาบาลรัฐหลายเรื่องทำให้คนที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง และไม่มีหลักประกันสุขภาพอื่นใด นอกจากบัตรทอง 30 บาท และต้องการได้รับบริการที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

          มาตรา 32 ผู้รับอนุญาตต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานพยาบาลนั้น

          (1) ชื่อสถานพยาบาล

          (2) รายการเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ทันตกรรม เภสัชกรรม กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลนั้น

          (3) อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการและสิทธิของ ผู้ป่วยที่สถานพยาบาลต้องแสดงตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง

          การแสดงรายละเอียดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา 33 รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล การบริการอื่นของสถานพยาบาลและสิทธิของ ผู้ป่วยซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามมาตรา 32

          ผู้รับอนุญาตจะเรียกเก็บหรือยินยอมให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลหรือค่าบริการอื่นเกินอัตราที่ได้แสดงไว้มิได้ และจะต้องให้การบริการแก่ผู้ป่วยตามสิทธิที่ได้แสดงไว้

          มาตรา 62 ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 33 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้จะดูประหนึ่งเหมือนบังคับให้สถานพยาบาลต้องแสดงรายละเอียด อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการและสิทธิของผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนในหลายสถานพยาบาลของเอกชน ที่ชื่อดังบางแห่ง กลับมีเพียงสิทธิของผู้ป่วย ที่ใส่กรอบกระจกแขวนไว้บนกำแพงหน้าห้องคุณหมอ บางแห่งประกาศแจ้งให้ผู้ต้องการสอบถามอัตราค่ารักษาพยาบาล ให้ไปสอบถามที่ห้องการเงิน ซึ่งมิน่าจะใช่สิ่งที่ถูกต้อง ปี พ.ศ.2541 อาจจะยังไม่มีการใช้ อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย แต่ ณ ปี พ.ศ.นี้ โรงพยาบาลสามารถแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล อันรวมถึงบัญชีราคายาอย่างละเอียดลงในเว็บไซต์ของโรงพยาบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ มิใช่มาแสดงรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลให้ดูในใบเสร็จรับเงินเท่านั้น (แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีรายละเอียดของราคายาอยู่ดี) จริงอยู่แม้บางโรงพยาบาลจะบอกอัตราค่ารักษาพยาบาลในอินเตอร์เน็ต แต่ก็จะใช้วิธีการบอกไม่หมด เช่น โฆษณาตามสื่อว่า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เข็มละ 800 บาท แต่วงเล็บไว้ว่า ยังไม่รวมค่าหมอ ค่าบริการทางการแพทย์ เป็นต้น

ด้วยบทลงโทษทางอาญาที่น้อยไป ประกอบกับปัญหา ในการบังคับใช้กฎหมาย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพปัญหาดังที่เป็นอยู่

คำถามที่น่าคิดก็คือ ทำไม ไม่มีการจัดทำบัญชีราคายาที่ชัดเจนของโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ถ้าเปรียบเทียบกับร้านอาหาร ก่อนเข้าร้าน เขายังมีเมนูอาหารบอกราคาไว้ให้ลูกค้าดูก่อนเข้าร้านเลยครับ น้ำส้มแก้วละ 150 บาท ในโรงแรมหรู จะแตกต่างกับน้ำส้ม แก้วละ 30 บาท อย่างไร อย่างน้อยที่สุด ผู้บริโภคเขาก็ได้รู้ก่อนตัดสินใจได้

ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติม กรณีค่ารักษาพยาบาล ในส่วนค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ (Health Professional Fees) หรือค่าหมอนั่นเอง โดยใช้วิธีการสอบถามไปยังโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง การเงินของโรงพยาบาลแจ้งว่า ไม่สามารถแจ้งอัตราที่ชัดเจน ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ตรวจรักษาเป็นคนระบุ

ในขณะที่เปรียบเทียบกับศูนย์การแพทย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง แถวย่านนครปฐม ในวันที่ผู้ป่วยจะกลับบ้าน หลัง admit ศูนย์การแพทย์แห่งนี้สามารถแจ้งรายละเอียดของค่ารักษาพยาบาล ยาจ่าย ให้ผู้ป่วย วันละกี่เม็ด ยาอะไรบ้าง เม็ดละเท่าไร แจ้งในเอกสารได้อย่างละเอียด โดยญาติที่ไปจ่ายเงินให้ผู้ป่วย แทบไม่ต้องไปถามอะไรที่การเงินเลย ให้เอกสารไปดูเอง โดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าชมเชยยิ่ง

ท้ายสุดนี้ สำหรับท่านที่มีฐานะ หรือคนรวย โอเคครับ เราไม่ต้องเอ่ยถึงหรือต้องคอยเป็นห่วง แต่สำหรับกรณีของคนชั้นกลาง ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลในฐานะข้าราชการ ไม่มีประกันสังคม ไม่มีประกันชีวิต และไม่ประสงค์ใช้บัตรทอง 30 บาท แม้จะยินดีเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน แต่การคิดอัตราค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่เป็นธรรม ก็น่าจะเป็นสิทธิที่กฎหมายควรคุ้มครอง หลายท่านอาจคิดแย้งในใจว่า ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนซิ คำตอบคือ ถ้าญาติคุณป่วยหนัก ไปโรงพยาบาลของรัฐ ห้องไม่มี ต้องรอคิวในห้องฉุกเฉิน และการรอคิวรักษานาน คือโอกาสที่น้อยลงของคนที่คุณรัก ถ้าคุณมีเงินเก็บ คุณก็ต้องยอมพาคนที่คุณรักมากที่สุดเข้าโรงพยาบาลเอกชน

นั่นแหละครับ คือสิ่งที่น่ากลัว คุณคิดเท่าไรเขาก็ต้องหามาจ่าย เงินเก็บเขามีเท่าไรเขาก็ต้องยอมจ่ายเพื่อคนที่เขารัก ถามใจของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไหนๆ เขาก็ประสงค์เข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว จะบอกอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ชัดเจน เป็นธรรม ไม่แพงจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาค่ายาและเวชภัณฑ์ ให้ผู้จะใช้บริการทราบหน่อยก่อน จะไม่ได้เลยหรือครับ

หรืออาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ สำหรับสังคมไทย ที่คนไข้ควรจะขอใบสั่งยาจากแพทย์ เพื่อไปซื้อยาทานเองกันได้แล้วกระมัง

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 28 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--