ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.จับมือ ชมรมจักรยานฯ ประชุมวิชาการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2 ชู “ปฏิบัติได้-ปฏิบัติจริง” โชว์งานวิจัยเชิงบวกสะท้อนผลดีของการเดินและใช้จักรยาน หวังใช้เป็นแรงกระตุ้นสร้างพลังขับเคลื่อนสู่นโยบายชาติ ขายไอเดียออกแบบชุมชนจักรยาน พร้อมมอบรางวัลเด็กแห่งปี เด็กน้อยหัวใจจิตอาสาให้ “น้องอิ่ม”
       
วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2 : การเดินและจักรยาน ปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ในบริบทไทย (The 2nd Thailand Bike and Walk Forum: Practicality of Walking and Cycling in Thai Context) และพิธีมอบประกาศเชิดชูเกียรติรางวัลเด็กแห่งปี (Boy of the Year Award) แก่ ด.ช.ณัฐวรรธน์ สุนทรวัฒน์ หรือ น้องอิ่มเด็ก น้อยหัวใจจิตอาสา พร้อมนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ ผลดีของการเพิ่มกิจกรรมการเดินหรือการใช้จักรยานต่อตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆ ในผู้สูงอายุ, การศึกษาลักษณะโครงสร้างและปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางเท้า สำหรับคนเดินและจักรยานในกรุงเทพฯ, เปรียบเทียบสมรรถภาพทางกาย และผลการตรวจทางเคมีเลือดของกลุ่มอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายต่างกัน เป็นต้น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนซื้อขายไอเดีย เช่น การออกแบบชุมชนจักรยาน กรณีศึกษา ชุมชนร่มเกล้า โดยนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ เพิ่มโอกาสและทางเลือกให้คนไทยมีกิจกรรมทางกาย หรือ PA (Physical Activity) มากขึ้น โดยผ่านวิธีการที่จะต้องสามารถปรับใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การใช้จักรยานและเดินไปทำงาน เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงลดใช้พลังงาน บรรเทาปัญหาจราจร และการรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มความน่าอยู่ของชุมชนและเมืองได้ 

“การจัดทำวิจัยวิชาการประเด็นจักรยานในแง่มุมต่างๆ ถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่/นโยบายที่เอื้อต่อการเดินและจักรยานและ ชุมชนจักรยาน ซึ่งกระตุ้นให้การเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน สามารถปฏิบัติได้จริงในสังคมไทย” ทพ.กฤษดา กล่าว

ด้าน ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานกรรมการกำกับทิศ โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย คือ การค้นหาองค์ความรู้ด้านงานวิจัย เพื่อนำมาสร้างฐานความรู้สู่การพัฒนา ที่จะทำให้การสร้างวิถีชีวิตที่เห็นความสำคัญกับการ “เดิน-จักรยาน” เป็นรูปธรรมที่สามารถ “ปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง” ในบริบทของสังคมไทย ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงมุ่งเน้น ค้นหาบทเรียนนำไปสู่กายใจดี-โครงสร้างดี-สภาพแวดล้อมดี (เมืองน่าอยู่)-การจัดการที่ดี-ผังเมืองดี และปฏิบัติการที่ดี

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีในการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับการเดิน-จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันขึ้น เนื่องจากงานวิชาการด้านนี้มีอยู่น้อยมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ต้องอ้างอิงจากต่างประเทศ ทำให้ไม่มีคำตอบที่ตอบโจทย์ในบริบทของสังคมไทยได้ สำหรับการประชุมครั้งที่ 2 นี้มีการพัฒนามากขึ้นจากครั้งที่ผ่านมา ทั้งในด้านจำนวนบทความ ความลึกเชิงวิชาการ และการประยุกต์ได้จริงในชุมชน โดยมีทั้งบทความที่วัดตัวเลขออกมาในเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีห้องพิเศษที่จัดไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในมุมมองของการสร้างชุมชนเดิน-จักรยานให้เกิดขึ้นจริงด้วย
       
“คาดหวังว่า การประชุมลักษณะนี้จะพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นการประชุมระดับชาติที่แท้จริง และเป็นแหล่งประชุมที่คนทำงานด้านเดิน-จักรยานจะต้องมาพบปะแลกเปลี่ยนกันทุกปี เพื่อที่จะร่วมกันหาคำตอบด้านการเดินทางที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป” ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง