ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยพบหญิงไทยเมินดูดบุหรี่สูบกว่าชายไทย 10 เท่า ระบุมีความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่และมีทัศนคติเชิงลบต่อการสูบบุหรี่มากกว่าผู้ชาย แต่ห่วงยังได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านและที่ทำงานเกือบ 10 ล้านคน
       
วันนี้ (5 มี.ค.) รศ.ดร.บุปผา ศิริรัศมี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยติดตามผลกระทบจากนโนบายควบคุมการบริโภคยาสูบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากลตรงกับวันที่ 8 มี.ค.นั้น จากผลการสำรวจติดตามผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ 2,000 คน และวัยรุ่น 1,000 คน มาเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2554 พบว่า เพศหญิงมีความรู้เรื่องพิษภัยจากการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศชาย เช่น การสูบบุหรี่ทำให้แก่เร็วกว่าอายุ เป็นสาเหตุของมะเร็งในช่องปาก โรคหลอดเลือดในสมองเป็นต้น ผู้หญิงรู้สึกว่าสังคมไทยไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายมากถึง 8 ใน 10 คน ไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ของผู้หญิง
       
“สัดส่วนของเพศหญิงที่สูบบุหรี่ต่ำกว่าเพศชายถึง 10 เท่า ชี้ให้เห็นว่าหญิงไทยไม่นิยมการสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งเพศชายและเพศหญิงเคยพยายามเลิกสูบบุหรี่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณร้อยละ 70 ส่วนของวัยรุ่นพบว่า วัยรุ่นชายสูบบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นหญิงถึง 10 เท่า เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ วัยรุ่นไทยทั้งเพศชายและเพศหญิง ยอมรับการสูบบุหรี่ของเพศชายมากกว่าการสูบบุหรี่ของเพศหญิง และเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น พบว่า วัยรุ่นชายมีความเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นหญิงถึง 20 เท่า” รศ.ดร.บุปผา กล่าว

รศ.ดร.อารี จำปากลาย รองหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีสัดส่วนสูงกว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่อาศัยอยู่ในเขตชนบท ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ที่มีสถานภาพสมรสหม้าย หย่า แยก มีสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ชายที่สูบบุหรี่ที่เป็นหม้าย หย่า แยก ผู้สูบบุหรี่ในกรุงเทพฯ เห็นว่าการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ สูงกว่าผู้สูบบุหรี่ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและเขตชนบท คือ ร้อยละ 16.2, 11.9 และ 8.9 ตามลำดับ โจทย์สำคัญที่เราต้องช่วยกันขบคิด ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้ผู้หญิงไม่เห็นดีเห็นงามไปกับการสูบบุหรี่ และผู้ชายไม่เห็นชอบกับผู้หญิงสูบบุหรี่ นี้ไว้ให้คงอยู่ สิ่งที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ คือค่านิยมมีผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การปลูกฝังค่านิยมเชิงลบต่อการสูบบุหรี่ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยทำให้ผู้หญิงเข้มแข็งและไม่ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ได้
       
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่หญิงไทยยังสูบบุหรี่กันน้อยมาก แต่ปัญหาใหญ่คือ การสำรวจการสูบบุหรี่ระดับผู้ใหญ่ พ.ศ.2554 พบว่ามีหญิงไทย 8.4 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และ 1.39 ล้านคนในที่ทำงาน จึงขอเชิญชวนผู้สูบบุหรี่ทุกคนไม่สูบบุหรี่ในบ้านและในที่ทำงาน เพื่อลดผลกระทบที่ควันบุหรี่มือสองมีต่อหญิงไทย ซึ่งที่จริงแล้วหญิงที่ได้รับควันบุหรี่มือสองก็คือคนในครอบครัวของผู้สูบบุหรี่เองแทบทั้งสิ้น