ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - ข้อมูลชี้!! ความไม่เพียงพอของบุคลากรด้านวัคซีนทำให้เกิดข้อด้อยต่อคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการด้านวัคซีนและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เดินหน้าสู่ปีที่สอง เร่งผลิตวิทยากรด้านวัคซีน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านวัคซีน

ที่รอยัลฮิลล์ รีสอร์ท กอล์ฟแอนด์สปา จ.นครนายก ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การเป็นวิทยากรหลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค" ตามโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยปี 2557 ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันมีโรคหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่พบว่ามีบางโรคกลับมาระบาดใหม่อีก เช่น โรคคอตีบ ไอกรน วัณโรค ฯลฯ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากคุณภาพของการให้บริการด้านวัคซีนที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างครอบคลุม

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์การพัฒนางานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2550 พบว่ามีข้อด้อยในเชิงปฏิบัติหลายประการเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการด้านวัคซีน ส่งผลต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดข้อผิดพลาดจากการให้บริการ เนื่องจากการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะใช้วัคซีนที่มีคุณภาพแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการต้องมีศักยภาพด้วย ถึงแม้การจัดอบรมบุคลากรด้านวัคซีนอาจมีมาแล้วหลายสิบปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักสูตรเฉพาะสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบในประเทศไทยยังไม่มี มีแต่การเรียนการสอนในคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฯตามสถาบันต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสอนแบบกว้าง ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมาปฏิบัติงาน จึงไม่สามารถดึงความรู้มาใช้ในการให้บริการได้อย่างถูกต้อง

ดร.นพ.จรุง ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานกลางแห่งชาติด้านวัคซีน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัคซีนของประเทศโดยการส่งเสริมสนับสนุน ให้มีการวิจัยพัฒนา การผลิตวัคซีนภายในประเทศ และการส่งเสริมการพัฒนางานด้าน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนใช้ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างเพียงพอและปลอดภัยได้ร่วมกับสำนักโรคติดต่อทั่วไปกรมควบคุมโรค พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งได้จัดพิมพ์หนังสือและแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั่วประเทศไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2555 และในปี พ.ศ. 2556 ได้จัดอบรมหลักสูตรการเป็นวิทยากรสำหรับหลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 2 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมที่มีศักยภาพในการเป็นวิทยากรได้ จำนวน 65 คน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานให้บริการด้านวัคซีน ทั่วประเทศที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 คน

ปี พ.ศ. 2557 นี้เพื่อเดินหน้าแก้ไขข้อจำกัดเรื่องจำนวนวิทยากรด้านวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง และครอบคลุมบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมากยิ่งขึ้น ทางสถาบันฯ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยปี 2557 ขึ้นโดยหลักสูตรในการอบรมครั้งนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมเพื่อการพัฒนาวิทยากรรุ่นใหม่และการจัดอบรมหลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่งานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้มข้นในเรื่องความรู้ที่จำเป็นทางด้านวัคซีน ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน การจัดให้บริการวัคซีนตั้งแต่เรื่องการคำนวณจำนวนวัคซีน การเก็บรักษาวัคซีน การนำวัคซีนไปให้บริการว่าวัคซีนไหนจะต้องให้บริการอย่างไร วิธีการฉีดที่ถูกต้องตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ การปฏิบัติที่จำเป็นเมื่อมีอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน รวมทั้งการดำเนินการที่เหมาะสม การรายงานการปฏิบัติทางด้านวัคซีนว่าต้องรายงานอย่างไร ซึ่งบุคคลที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้จะสามารถพัฒนาสู่การเป็นวิทยากรด้านวัคซีนที่มีศักยภาพ ส่งผลโดยตรงต่อการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยแก่ประชาชนผู้รับบริการ

ด้าน น.ส.สุมณี เลิศกนกกุล เภสัชกร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กทม. ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดอบรมบุคลากรด้านวัคซีนในระดับพื้นที่และเป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมบอกว่า ปัญหาในการทำงานด้านวัคซีนที่ผ่านมาคือการขาดแคลนวิทยากรในการ ฝึกอบรมด้านวัคซีนที่ต้องรอการสนับสนุนจากส่วนกลาง รวมทั้งขาดสื่อสนับสนุน องค์ความรู้วิชาการด้านวัคซีน การติดตามและประเมินมาตรฐานที่ต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานในพื้นที่หรือหน่วยเขต ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อคุณภาพในการปฏิบัติงาน ระหว่างลงพื้นที่จะเกิดปัญหาคือเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรยังขาดความรู้ที่ไม่ครอบคลุมในประเด็นที่ต้องการสื่อสารกับประชาชนในชุมชน เพราะการทำงานลงพื้นที่จะใช้ระบบพี่เลี้ยง เพื่อคอยติดตามดูแลว่ามีปัญหาอะไรและปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถนำมาพัฒนาหรือหาแนวทางแก้ไขได้หรือไม่  โดยหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะช่วยเสริมทักษะความรู้ด้านวัคซีนและ เพิ่มความมั่นใจในการนำไปถ่ายทอดให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ช่วยให้ได้ความรู้และหลักการที่เป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง ไม่ใช่อาศัยแค่ประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยหลักทฤษฎีที่เป็นมาตรฐานด้วย เมื่อเกิดปัญหาในการลงพื้นที่ จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาช่วยแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น

ส่วน น.ส.กัญญาพัชญ์ จาอ้าย อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหา วิทยาลัยพายัพ  จ.เชียงใหม่ อีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมบอกว่า การเข้าร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ต้องการความรู้เพิ่มเติมช่วยเสริมการทำงาน เช่น การเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา เทคนิคการฉีดวัคซีน การจัดท่าเด็ก ในการเข้ารับวัคซีน วิธีการเกลี้ยกล่อมเด็กเมื่อเด็กมีปัญหาในขณะฉีดวัคซีน การให้คำแนะนำก่อนและหลังฉีดวัคซีน การแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่สามารถนำไปถ่ายทอดและเผยแพร่ได้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายและการ จุดประกายในการพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ

เช่นเดียวกับ นางสุภาพร ศรีโคตรบูรณ์พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลศรี เชียงใหม่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย บอกว่า การอบรมครั้งนี้จะได้ความรู้เชิงลึกเรื่องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มเติม สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดให้แก่รุ่นน้อง เจ้าหน้าที่ พนักงานที่ทำงาน สถานีอนามัย เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานตรงจุดนี้ และเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัยหรือสถานบริการในโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องการให้มี ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนที่ชัดเจนขึ้น และสามารถสื่อสารความรู้ให้ประชาชนเรื่อง การรับบริการวัคซีนด้วย.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--